เมืองไทยช่วงปลายปี 2564 กับสถานการณ์การระบาดของ “โควิด-19″ นั้นทุก ๆ ฝ่ายได้หายใจหายคอกันโล่งขึ้นอยู่ระยะหนึ่ง แล้วพอผ่านเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 ก็ต้องกลับมากลั้นหายใจเป็นระยะ ๆ ต้องลุ้นระทึกกับ “โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน” ที่ระบาดพุ่งพรวดตามคาด ซึ่งล่าสุดแม้จะมีกระแสว่า เจ้าโอมิครอนนี่ไม่รุนแรงเหมือนโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และไทยก็เริ่มมีแผนผ่อนคลายการคุมเข้มโควิดอีกครั้ง แต่กระนั้น…ทุก ๆ ฝ่ายก็ยังวางใจมากไม่ได้ ยังต้องตั้งการ์ดสูงกันอยู่ เพราะ ณ ขณะนี้โควิด-19 ก็ยังทำให้คนไทยตายได้!! ขณะที่ฝ่าย “บุคลากรทางการแพทย์” ก็ยังคงเป็นฝ่ายที่ “ควรต้องได้รับกำลังใจในการสู้โควิด” ให้มาก ๆ…รวมถึงกับ “บุคลากรห้องฉุกเฉิน” หรือ “อีอาร์ (ER)” ที่ก็…

มี “ภารกิจภาระงานสู้โควิดที่หนักอึ้ง” มายาวนาน…

ก็ “เผชิญผลกระทบมากทั้งสุขภาพกาย-สุขภาพจิต”

และ “ก็หวังว่าจะได้รับการใส่ใจคุณภาพชีวิตแล้ว??”

ทั้งนี้ “บุคลากรห้องฉุกเฉิน…กับโควิด-19 นั้น มีผลสำรวจที่เปิดเผยไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้โดยเวทีที่จัดโดย สถาบันวิจัยระบบาธารณสุข (สวรส.) ที่ฉายภาพ “ผลกระทบ” ต่อบุคลากรห้องฉุกเฉินในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รอบที่แล้ว ซึ่งพบว่า… บุคลากรจำนวนไม่น้อย “เกิดภาวะเครียดสะสม” ทำให้ “คุณภาพชีวิตย่ำแย่” และก็ “กระทบประสิทธิภาพการทำงาน” จึงมีข้อเสนอแนะให้มีการ “แก้ปัญหา” ที่เกิดขึ้นกับบุคลากรห้องฉุกเฉิน ผ่าน “มาตรการระยะสั้น-ระยะยาว”

สำหรับข้อเสนอแนะดังกล่าว จัดทำโดยนักวิจัยเครือข่ายของ สวรส. ได้แก่ ดร.พัชร์วลีย์ นวลละออง และ นพ.ภคพล เอี่ยมไพบูลย์พันธ์ ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตแพทย์และพยาบาลห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” ในเขตพื้นที่ EEC ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า… ภาระการทำงานหนักของแพทย์และพยาบาลห้องฉุกเฉินนั้น ทำให้บุคลากรกลุ่มนี้เกิดความ เครียด วิตกกังวล และซึมเศร้า ส่งผลให้ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และเป็นที่มาของการเสนอแนะแนวทางเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ “บุคลากรห้องฉุกเฉินโดย…

“มาตรการระยะสั้น” ทางทีมผู้ศึกษาวิจัยได้เสนอแนะไว้ว่า… เริ่มจาก มีการจัดตารางเวรเหมาะสมกับงาน ซึ่งถ้าหากที่ใดมีข้อจำกัดเรื่องอัตรากำลัง ก็จะยิ่งทำให้มีปริมาณงานที่หนักเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้บุคลากรมีความเครียดสะสม จึงต้องจัดตารางเวรให้เหมาะสม, เน้นการเสริมแรงทางบวก ได้แก่ มีการสื่อสารให้ทราบถึงความจำเป็น มีการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันที่มีคุณภาพให้อย่างเพียงพอ, กำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน ทั้งก่อนเกิดและเมื่อเกิดวิกฤติระบาดใหญ่ เพื่อสร้างระบบการทำงานที่ปลอดภัย และเพื่อลดความกังวลใจให้กับบุคลากรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่สู้กับโควิด …นี่เป็น “มาตรการระยะสั้น”

ส่วน “มาตรการระยะยาว” ประกอบด้วยแนวทางต่าง ๆ อาทิ… การ มีนโยบายที่เหมาะสม เกี่ยวกับการบริหารอัตรากำลังและการวางแผนอัตรากำลังที่เหมาะสม-ทันต่อสถานการณ์ และจัดทำแนวทางการพยากรณ์อัตรากำลังตามอุปสงค์โดยใช้หลักการบริหารคาดการณ์, มีการ สร้างความภาคภูมิใจในตนเอง โดยจัดให้ทีมที่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาหน้างานได้ลุล่วงได้รับพิจารณาการให้ผลตอบแทนหรือรางวัล, การ มีแผนบริหารจัดการอุปกรณ์ป้องกันเชื้อที่มีคุณภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับปัญหาจากผู้ป่วยติดเชื้อ …นี่เป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ “มาตรการระยะยาว”

เพื่อ “ลดผลกระทบให้กับบุคลากรของห้องฉุกเฉิน”

เกี่ยวกับ “ปัญหาคุณภาพชีวิตบุคลากรห้องฉุกเฉินจากโควิด-19” นั้น ทาง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ระบุไว้ในเวทีที่นำเสนอปัญหานี้ว่า… ต้องยอมรับว่าคนที่เครียดเพราะโควิดมากก็รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งในช่วงหลัง ๆ ก็ดูจะเครียดมากกว่าประชาชน ซึ่งงานศึกษาวิจัยนี้ช่วยสะท้อนให้เห็นถึง “ภาวะความเครียดที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องแบกรับ” ขณะที่ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. ก็เสริมไว้ว่า… ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ในไทยต่อเนื่องมา ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า แพทย์พยาบาลในห้องฉุกเฉิน ล้วน เสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิดได้ง่าย!!

อีกทั้งยังส่งผลให้ มีขั้นตอนกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น จน เกิดภาวะความบีบคั้นทางใจ เกิดความเครียดสะสมจากความเหนื่อยล้า ทำให้กระทบต่อร่างกายและจิตใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงจำเป็นที่ จะต้องมีมาตรการที่เฉพาะเจาะจงเพื่อป้องกัน “บุคลากรห้องฉุกเฉิน” ให้มั่นใจ และเพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจในบริการ …นี่เป็นประเด็นที่มีการสะท้อนไว้ ที่ไทยก็ต้องใส่ใจ นอกเหนือจากวัคซีนสู้โควิดและยาสู้โควิด

“นอกจากยารักษากับวัคซีนแล้ว นี่คืออีกสิ่งที่ ไม่ควรมองข้าม โดยงานวิจัยช่วยฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาที่บุคลากรกลุ่มนี้ต้องเผชิญอยู่ และค้นหาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของบุคลากรห้องฉุกเฉินที่ได้รับผลกระทบ เพื่อหาแนวทางหรือรูปแบบที่จะนำไปปฏิบัติในภาพรวมได้ต่อไป” …ทาง นพ.นพพร ย้ำไว้ถึงความสำคัญของเรื่องนี้กรณีนี้

ทั้งนี้ “โควิดโอมิครอนไม่ดุมาก??” ถ้าจริงก็ดี และ “โควิด-19 ใกล้จะลดฤทธิ์ในการคร่าชีวิตคน??” ถ้าจริงนี่ก็ยิ่งดี แต่กับการ “เตรียมพร้อมรับมืออย่างมีประสิทธิภาพดีพอก็ยังคงสำคัญ!!” รวมถึงในส่วน “บุคลากรทางการแพทย์”

รวมถึง “บุคลากรห้องฉุกเฉิน”ที่ก็ต้องใส่ใจให้พอ

ก็ “ต้องได้รับการใส่ใจดูแลฟื้นฟูชีวิตให้ฟิตพร้อม”

พร้อม “สู้ศึกไวรัสโควิด” ที่ “พันธุ์ดุ” อาจมีอีก??.