วันก่อนมี “นายพล” ของกองทัพบก มาชี้ชวนให้ “พยัคฆ์น้อย” อ่านผลงานวิจัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในช่วงเข้าเรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 20 ปีการศึกษา 50-51 ซึ่งตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์น่าจะมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ยศ “พลโท”

งานวิจัยชิ้นนี้ได้ข้อมูลเชิงลึกมาจากการสัมภาษณ์ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 7 คน ระดับปลัดกระทรวง-อธิบดี-ผบ.ทบ.-ผู้ช่วย ผบ.ตร.-รองเลขาฯ สมช. และนักวิชาการ ในประเด็นเกี่ยวกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งมีความแตกต่างและยุ่งยากในการตีความเพื่อบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก จึงตั้งเป็นข้อสังเกตในแต่ละภัยคุกคามดังนี้

  1. ความแตกแยกของคนในสังคม เช่น กรณีกลุ่ม นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ จนมีผู้เสียชีวิต
  2. ปัญหาความไม่เชื่อมั่นต่อระบบและสถาบันทางการเมือง
  3. ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
  4. ปัญหายาเสพติด
  5. ปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ
  6. ปัญหาแรงงานต่างด้าวและผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย
  7. ปัญหาภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่
  8. ปัญหาการขาดสมดุลในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
  9. ปัญหาความยากจน

นายพล” กล่าวเสริมว่า พล..ประยุทธ์ไปสัมภาษณ์ขอข้อมูลจาก “ผู้รู้” เพื่อนำมาทำเป็นงานวิจัยเมื่อปี 50-51 ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็น ผบ.ทบ. เรียกว่ารู้ปมปัญหาของประเทศ เกี่ยวกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ๆ ตั้งแต่ยังไม่ได้ทำรัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศ

จนถึงปัจจุบันถ้าจะไล่เรียง “ภัยคุกคาม” ตั้งแต่ล่างขึ้นบน ถามว่าประเทศไทยภายใต้การบริหารจัดการของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างไรบ้าง? คนไทยส่วนใหญ่คงทราบดีกันอยู่แล้ว ตั้งแต่ปัญหาความยากจน โดยเมื่อ 2-3 ปีก่อน รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ออกสตาร์ตด้วยการแจกบัตรคนจน 14.5 ล้านคน มาถึงปี 65 จะเพิ่มเป็น 20 ล้านคนอีกแล้ว!

ปัญหาภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่ ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมยังซ้ำซากอยู่ ส่วนโรคอุบัติใหม่ (โควิด-19) ต้องถือว่ารัฐบาลล้มเหลวในการบริหารจัดการวัคซีน คนไข้ไม่มีเตียง ต้องนอนตายคาบ้าน และนอนตายบนถนนบนฟุตปาธ

ส่วนปัญหายาเสพติดไม่ต้องพูดถึง เพราะระบาดหนักมาก หาซื้อง่าย ขายคล่อง ราคาถูก ผู้ต้องขังคดียาเสพติดล้นคุก แถมยังส่งออกไปต่างประเทศจำนวนมาก โดยได้รับการการันตีว่ายาเสพติดที่ถูกจับได้มีต้นทางมาจากไทย

สำหรับปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ยังคุกรุ่นต่อไป ไม่รู้ว่าจะสงบเมื่อไหร่? ต่อเนื่องไปถึงความไม่เชื่อมั่นต่อระบบและสถาบันทางการเมือง โดยเฉพาะบรรดา “องค์กรอิสระ” ต่าง ๆ ล้วนอยู่ในสภาพวิกฤติศรัทธาตกต่ำ! ในสายตาของประชาชน

มาถึงปัญหาใหญ่ของประเทศ คือ ความแตกแยกของคนในสังคม โดยปี 50-51 ที่ว่าแตกแยกแล้ว! แต่หลังรัฐประหารปี 57 จนถึงปัจจุบัน สังคมไทยแตกแยกกันหนักกว่าอดีต เป็นการแตกแยกอย่างชัดเจนและร้าวลึกไปทุกชนชั้น.

———————–
พยัคฆ์น้อย