กรณี “คนหาย” นั้น…ที่มาสาเหตุมีอยู่หลายประการ ซึ่งประการหนึ่งที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนไว้ในวันนี้คือสาเหตุจากการป่วยด้วย “โรคสมองเสื่อม” หรือ “โรคอัลไซเมอร์”  ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีกระแสข่าวว่ามีกรณีจากสาเหตุนี้เกิดขึ้นในบางจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยผู้ที่หายตัวไปจากครอบครัวเป็นหญิงสูงอายุที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม-โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเหตุการณ์ “ผู้ป่วยอัลไซเมอร์หายตัวไป” จนเป็น “เหตุคนหาย” ต้องมีการ “ติดตามหาตัว” นั้น แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้น ที่ผ่าน ๆ มานับแต่อดีต ในไทยเคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ มีเหตุคนหายด้วยสาเหตุนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง…

ประเด็นคือ… กับ “การติดตามหาตัวคนหาย” สำหรับคนหายที่เป็นกลุ่ม “ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม” หรือ “ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์” นั้น กรณีนี้จัดเป็นกรณีเฉพาะที่ “มีวิธีการที่ละเอียดซับซ้อน” ค่อนข้าง “แตกต่างจากกรณีคนทั่วไปหาย” ซึ่งกับความละเอียดซับซ้อนนั้น ก็มีการจัดทำ “คู่มือเฉพาะ” สำหรับใช้เป็นแนวทางในการติดตามหาตัวคนหายในกลุ่มนี้ขึ้นมา โดยคู่มือดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกว่า คู่มือติดตามคนหายประเภทโรคสมองเสื่อม” จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา

ที่สามารถจะนำไปใช้เป็น “ไกด์ไลน์” ตามหาคนหาย

ใช้สำหรับ “ตามหาคนหายที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์”

ทั้งนี้ สำหรับ “คำแนะนำ” ในการ “ติดตามคนหายประเภทโรคสมองเสื่อม” นั้น ในคู่มือที่จัดทำโดยศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ได้ให้แนวทางเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ โดยสังเขปมีว่า… ผู้ป่วย “สมองเสื่อม” นั้นหมายถึง ผู้ป่วยที่มีอาการเสื่อมของการทำงานของสมองทั้งหมด ส่งผลให้ ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความจำ รวมถึงความรอบรู้ และมีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม รวมถึงบุคลิกภาพ ซึ่ง พบมากในกลุ่มของผู้สูงอายุ ที่อาการสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยคืออาการ “โรคอัลไซเมอร์”

ถ้ามีกรณี “คนที่สมองเสื่อม-ผู้ป่วยอัลไซเมอร์หายตัวไป” กรณีนี้ก็มี “คำแนะนำเบื้องต้น” คือ… ครอบครัวหรือญาติ ควรตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สิน รูปพรรณ เครื่องแต่งกาย ที่ผู้ที่หายสวมใส่ก่อนจะหายตัวไป เพื่อการใช้เป็นจุดสังเกตคนหาย และใช้เพื่อวิเคราะห์เส้นทางในการติดตามหาตัวต่อไป, ควรหาข้อมูลจากบุคคลที่พบเห็นผู้ที่หายตัวไปเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้ได้ข้อมูลอัพเดทล่าสุด และช่วงเวลาใกล้เคียงที่สุดก่อนที่จะหายตัวไป, วิเคราะห์อุปนิสัยและพฤติกรรมของคนที่หายตัวไป เช่น พฤติกรรมขึ้นรถประจำทาง พฤติกรรมการเดินทางออกนอกบ้าน ซึ่งการวิเคราะห์พฤติกรรมคนที่หายตัวไปนั้น เรื่องนี้ก็…

จำเป็นมากกับการประเมินสถานการณ์เบื้องต้น

คำแนะนำและแนวทางต่อมาคือ…ตรวจสอบสถานที่ที่คาดว่าผู้ที่หายจะเดินทางไป เช่น สถานที่ที่คุ้นเคย หรือผู้ที่หายตัวไปนั้นชอบที่จะเดินทางไปเป็นประจำ หรือถ้าหากไม่พบตัว ณ สถานที่นั้น ก็อาจฝากรูปของคนที่หายไปเอาไว้ เพื่อให้มีการช่วยประชาสัมพันธ์ต่อ หรือไปตรวจสอบยังบ้านเก่า หรือที่ทำงานเก่าของคนที่หายตัวไป เนื่องจากผู้มีอาการสมองเสื่อมนั้นมักจะจดจำได้แต่เรื่องในอดีต จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า… การหายตัวไปนั้นเพราะเดินทางไปยังบ้านเก่า หรือสถานที่ทำงานเก่าของตนเอง…

ตรวจสอบที่อู่รถโดยสารประจำทาง นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของคำแนะนำโดยเฉพาะในกรณีที่คนที่หายตัวไปนั้นสามารถจะขึ้นรถโดยสารประจำทางด้วยตนเองได้ เพราะก็อาจเป็นไปได้ว่า… คนที่หายไปนั้นอาจจะขึ้นรถประจำทางเพื่อที่จะหาทางกลับบ้านด้วยตัวเอง เพียงแต่ไม่ทราบจุดหมายปลายทาง หรือไม่ทราบว่ารถที่โดยสารไปนั้นกำลังจะเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ใด

อีกที่ ตรวจสอบตามสถานีตำรวจต่าง ๆ นี่ก็ด้วย เนื่องจากในระหว่างที่หายตัวไปอาจมีคนพบเห็นและนำตัวไปส่งไว้ที่สถานีตำรวจ หรืออีกกรณีหนึ่ง คนหายรายนั้นอาจจะหลงเดินเข้าไปยังบ้านของคนอื่น เนื่องจากหลงผิดคิดว่าสถานที่นั้นเป็นบ้านของตนเอง จนอาจจะถูกเจ้าของบ้านแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจ เพื่อรอการติดต่อกับครอบครัวต่อไป

ตรวจสอบที่สถานแรกรับคนไร้ที่พึ่ง นี่ก็เกี่ยวเนื่อง เพราะถือเป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งรวบรวมคนหาย หรือผู้ที่พลัดหลงที่มีอาการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม โดยเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับคนหายเอาไว้ในการดูแล และไม่สามารถติดต่อหาครอบครัวได้ ก็มักจะนำตัวคนหายรายนั้นไปฝากไว้ยังสถานที่แรกรับคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่เอาไว้ก่อน ระหว่างที่รอการตามหาครอบครัวหรือญาติ

นอกจากนี้ ตรวจสอบตามโรงพยาบาล ก็อยู่ในคำแนะนำ โดยเฉพาะโรงพยาบาลในละแวกบ้าน ใกล้เคียงกับบริเวณที่หายตัวไป ถือเป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าคนที่หายตัวไปอาจถูกส่งตัวไปรักษา เนื่องจากคนหายประเภทโรคสมองเสื่อมส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งระหว่างที่หายตัวไปหรือในระหว่างที่พลัดหลงอาจจะเป็นลมและถูกนำส่งโรงพยาบาล หรืออาจจะประสบอุบัติเหตุ ซึ่งกับโรงพยาบาลนี่ก็ควรตรวจสอบการเกิดอุบัติเหตุตามแผนกนิติเวชของโรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วย

และสุดท้าย สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับ “สถานที่ในการติดตามหาตัวคนหายสำหรับคนที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม-โรคอัลไซเมอร์” ก็คือ ตรวจสอบกับทางกรมราชทัณฑ์ ที่เป็นอีกทางหนึ่งกรณีที่หาที่อื่นแล้วยังไม่พบ ซึ่งหลังจากได้ลองตรวจสอบตามสถานที่ที่มีการแนะนำมาข้างต้นหมดแล้ว แต่ยังไม่เจอตัวผู้ที่หาย ทางครอบครัวก็ควรดำเนินการตรวจสอบกับที่นี่ด้วย เนื่องจากด้วยอาการป่วย คนที่หายนั้นอาจจะไปทำร้ายร่างกายผู้อื่นด้วยหลงผิดคิดว่ากำลังโดนบุคคลดังกล่าวปองร้าย จนอาจถูกจับดำเนินคดีและถูกควบคุมตัวไปไว้ในเรือนจำแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน …นี่ก็เป็นคำแนะนำในคู่มือ

เหล่านี้ “รู้ไว้ใช่ว่า…” เผื่อจะเป็น “ไกด์ไลน์เบื้องต้น

นี่เป็น “แนวทางติดตามคนหายที่ป่วยอัลไซเมอร์” …

ณ ที่นี้ก็ “ขอเอาใจช่วยให้หาเจอด้วยดี” ทุกราย.