รายงานโดยเซาท์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์ ระบุว่า การดำเนินงานตามแผน รัฐบาลวอชิงตันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะต้องพึ่งพาบรรดาประเทศพันธมิตรอย่างหนัก โดยเฉพาะในด้านการป้องปรามทางทหาร และการเสริมกำลังทหาร ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อกำหนดในแผนดังกล่าว ซึ่งมีความยาว 12 หน้ากระดาษ ระบุให้เพิ่มบทบาทพันธมิตรยุโรป ในช่องแคบไต้หวัน และที่อื่น ๆ เสริมการเชื่อมต่อทางการค้า เศรษฐกิจ และสาธารณูปโภค ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ให้แข็งแกร่งกว่าเดิม และเสริมอำนาจอินเดีย ประเทศยักษ์ใหญ่คู่แข่งบารมนีของจีนในเอเชีย

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ใหม่ โดยหลักไม่ใช่แผนต่อต้านจีน เพียงแต่ระบุว่าจีนเป็น “หนึ่งในความท้าย” ที่ภูมิภาคกำลังเผชิญ โดยเฉพาะการแผ่ขยายแสนยานุภาพทางทหาร และพฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากขึ้น

ในความพยายามสนับสนุน การสานต่อนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” ของรัฐบาลสหรัฐชุดก่อน แผนยุทธศาสตร์ใหม่กำหนดให้เปิดสถานทูตและสถานกงสุลสหรัฐเพิ่ม การขยายเครือข่ายปฏิบัติการหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา หรือ พีซคอร์ (Peace Corps) การเพิ่มบทบาทของหน่วยยามฝั่งสหรัฐ และตั้งกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก

CNA

สหรัฐยังหวังที่จะเปลี่ยนปัจจัยแวดล้อมนอกจีน มากกว่าพยายามปรับเปลี่ยนแนวคิดของปักกิ่ง โดยข้อกำหนดในแผน ตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า “เป้าหมายของเราไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนจีน แต่จะกำหนดปัจจัยแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ เพื่อปฏิบัติการและสร้างความสมดุลแห่งอิทธิพลในโลก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสหรัฐ รวมทั้งพันธมิตรและหุ้นส่วน บนพื้นฐานผลประโยชน์และค่านิยมร่วมกัน”

หลักการส่วนใหญ่ในแผน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำให้อินโด-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่เสรีและเปิดกว้าง ความสำคัญของพันธมิตร และการมีส่วนร่วมแบบพหุภาคี หลังหันไปเน้นนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ในยุครัฐบาลชุดที่แล้วของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

CGTN

นอกจากนี้ ข้อกำหนดในแผนการ ยังเรียกร้องให้สหรัฐเสริมความเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาค กับสหภาพยุโรป ( อียู ) สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสมาชิกอีก 3 ประเทศของกลุ่มพันธมิตร “ควอด” คือ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย

หลายประเทศพันธมิตร แสดงความชื่นชมต่อแผนยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐ แต่บางส่วนแสดงความวิตก ต่อความแตกแยกทางการเมืองภายในของสหรัฐ ว่าอาจทำให้แผนถูกยกเลิก หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งต่อไป ในปี 2567 และบางส่วนถึงขั้นตั้งข้อสงสัยว่า แผนนี้จะอยู่รอดตลอดวาระของรัฐบาลไบเดนหรือไม่.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS