“วันขนมหวาน” นั้นตรงกับวันที่ 15 ก.พ.ของทุกปี ซึ่งวันขนมหวานเริ่มขึ้นเมื่อปี 2524 โดยสมาคมอุตสาหกรรมขนมของประเทศญี่ปุ่น ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้มีวันสำหรับขนมหวานต่อเนื่องมาจากวันวาเลนไทน์นั่นเอง

สำหรับ คำว่า “ขนม” เข้าใจว่ามาจากคำสองคำที่มาผสมกันคือ “ข้าวหนม” และ “ข้าวนม” เข้าใจว่าเป็นข้าวผสมน้ำอ้อย น้ำตาล โดยอนุโลมคำว่า หนม แปลว่า หวาน ข้าวหนม ก็แปลว่า ข้าวหวาน เรียกสั้น ๆ เร็ว ๆ ก็กลายเป็น ขนม ไป

คำว่า ขนม มีใช้มาหลายร้อยปียากจะสันนิษฐานแน่นอนได้ เช่นเดียวกับไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่า “ขนมไทย” เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยใดเป็นครั้งแรก แต่ตามประวัติศาสตร์ไทยมีหลักฐานตอนหนึ่งว่า มีการจารึกชื่อขนมในแท่งศิลาจารึก เป็นการจารึกแบบลายแทงสมัยโบราณ ขนมที่ปรากฏคือ “ไข่กบ นกปล่อย บัวลอย อ้ายตื้อ” ถามผู้ใหญ่ดูถึงได้รู้ว่า ไข่กบ หมายถึง เม็ดแมงลัก, นกปล่อย หมายถึง ลอดช่อง, บัวลอย หมายถึง ข้าวตอก, อ้ายตื้อ หมายถึง ข้าวเหนียว ขนมทั้งสี่ใช้น้ำกระสายอย่างเดียวกันคือ “น้ำกะทิ” โดยใช้ถ้วยใส่ขนม ซึ่งเราเรียกการเลี้ยงขนม 4 อย่างนี้ว่า “ประเพณี 4 ถ้วย”

ขนมประเภทที่ใช้ข้าว (แป้ง) น้ำตาล มะพร้าว คงจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เพราะมีการติดต่อกับต่างประเทศ กล่าวว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์บรรดาศักดิ์ “ท้าวทองกีบม้า” ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับชาวพนักงานของหวาน ได้ประดิษฐ์คิดค้นขนมตระกูลทองเพราะมีไข่ผสม คือ ทองหยิบ ทองหยอด ทองพลุ ฝอยทอง ทองโปร่ง เป็นต้น จึงทำให้เกิดคำว่า “ขนมไทย” ขึ้น และได้รับการสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ โดยขนมไทยถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอีกด้วย