กลางกระแส “โควิด-19” ที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศ ไทย ประชาชนคนไทยยังไว้วางใจไม่ได้-ยังต้องยกการ์ดสูงป้องกันกันเต็มที่ต่อไป เมื่อเร็ว ๆ นี้กับกรณี “อันดับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทย” ล่าสุดนั้น…ก็เกิดเป็นกรณีถกเถียงประมาณว่า “ขยับขึ้น??-ลดลง??” สรุปแล้วยังไงกันแน่?? ซึ่งกรณีนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลมาสะท้อน…

ในมุมวิชาการเองก็ได้พยายาม “ถอดรหัส”…

ถอดรหัสเกี่ยวกับ “อันดับของไทย” ด้านนี้…

“ความมั่นคงทางสุขภาพ” นี่ “นับวันยิ่งสำคัญ”

ทั้งนี้ กรณีเกี่ยวกับ “อันดับของไทยในการจัดอันดับโลก” ในส่วนของ “ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ” นั้นกรณีนี้เรื่องนี้ได้มีการวิเคราะห์ไว้โดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผ่านทางรายการพินิจเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งน่าสนใจ-น่าพิจารณา โดย ดร.วิโรจน์ สะท้อนไว้ว่า… ใน รายงานดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก ปี 2021 มีการระบุถึง “ความมั่นคงทางสุขภาพ” ของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ “ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19″ ที่พบว่า… ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงไทยต่างมี “จุดแข็งข้อจำกัด”

ในการ “รับมือโรคระบาด” ที่ไม่เฉพาะแค่โควิด

บทวิเคราะห์โดย ดร.วิโรจน์ มีการระบุไว้ว่า… ในรายงานฉบับดังกล่าวนี้ได้ฉายภาพผลการสำรวจว่า…จากการสำรวจ “ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลก” เมื่อปี 2019 ในช่วงปลายเดือน ต.ค. หรือก่อนที่จะมีโควิด-19 ระบาด พบว่า… ไทยเคยอยู่อันดับ 6 ของโลก ในด้านนี้ อย่างไรก็ตาม แต่การสำรวจดัชนีทางสุขภาพโลกอีกครั้ง ในครั้งล่าสุด ปี 2021นั้น พบว่า… ไม่มีประเทศใดที่มีความพร้อมทุกด้านในการรับมือกับโรคระบาด!!! ซึ่งก็ รวมถึงประเทศไทย ด้วยเช่นกัน โดยทุก ๆ ประเทศต่างก็ยัง มีช่องว่าง ที่จำเป็น ต้องเร่งอุด จนส่งผลทำให้อันดับของแต่ละประเทศตกลงมาพร้อมกัน เนื่องจาก…

ไม่มีประเทศใดได้คะแนนรวมเกิน 80 จาก 100

ทาง ดร.วิโรจน์ ยังได้ให้ข้อมูลไว้เกี่ยวกับ “อันดับความมั่นคงทางสุขภาพ” ที่มีการสำรวจครั้งล่าสุด ปี 2021 โดยสรุปมีว่า… สำหรับกลุ่มอันดับต้น ๆ ที่มีคะแนน 60-80 คะแนนนั้น กลุ่มนี้ มีแค่ 3 ประเทศ…ที่ได้คะแนนเกิน 70 คะแนน ได้แก่… สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, ฟินแลนด์ ส่วนประเทศที่คะแนนรองลงมา อันดับที่ 4 คือ แคนาดา และในการสำรวจครั้งล่าสุด ประเทศไทยได้อันดับที่ 5 แต่…ก็มีประเด็นน่าสังเกตสำหรับประเทศในกลุ่มต้น ๆ คือ มีเพียงแค่แคนาดา นิวซีแลนด์ ลัตเวีย ที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศอื่น ๆ พบว่า ได้คะแนนลดลง จากเดิม ซึ่ง รวมถึงประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ก็มีปัจจัยที่ทำให้อันดับของไทยดีขึ้น 1 อันดับ เป็นอันดับ 5 คือ…เพราะมีประเทศอื่นคะแนนลดลงมากกว่า

สำหรับ “ตัวชี้วัด” ที่ถูกนำมาใช้ในการ “จัดอันดับความมั่นคงทางสุขภาพ” นั้น เรื่องนี้ประเด็นนี้ทาง ดร.วิโรจน์ ได้ให้ข้อมูลไว้สรุปได้ว่า… การประเมินความสามารถในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับโรคระบาดนั้น จะประเมินผ่านตัวชี้วัดใน 6 หมวด ประกอบด้วย… ชี้วัดจาก การป้องกัน โรคติดต่อ-โรคระบาดจะมีเรื่องของ “ไบโอซีเคียวริตี้” ความสามารถของแต่ละประเทศในการ ป้องกันสกัดกั้นควบคุม การระบาดของโรค รวมถึงพิจารณาจาก “วัคซีนการฉีดวัคซีน” ของแต่ละประเทศ, การตรวจและรายงาน นี่จะดูในเรื่องของคุณภาพของระบบห้องปฏิบัติการ ซัพพลายเชน และระบบการรายงาน

ถัดมา การตอบสนอง จะดูการตอบสนองสถานการณ์ว่าเร็วแค่ไหน มีแผนรับมือฉุกเฉินหรือไม่ มีการเชื่อมโยงด้านสาธารณสุขกับหน่วยงานความมั่นคงหรือไม่ มีการสื่อสารด้านความเสี่ยงหรือไม่ และ ปฏิบัติตามแผนได้หรือไม่ ด้วย, ระบบสาธารณสุข หมวดนี้จะดูจากศักยภาพสถานพยาบาลต่าง ๆ, การปฏิบัติตามบรรทัดฐานนานาชาติ นี่จะดูจากรายงานต่าง ๆ ที่ประเทศส่งให้องค์การอนามัยโลก ว่าข้อมูลมีความสมบูรณ์แค่ไหน มีการร่วมมือกับนานาชาติแค่ไหน และหมวดสุดท้าย ความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งจะ พิจารณาทั้งสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคง รวมถึงการเมือง ด้วย

นี่เป็น “ตัวชี้วัดเพื่อจะให้คะแนน” ประเทศต่าง ๆ

เพื่อการ “จัดอันดับดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ”

ทั้งนี้ สำหรับ คะแนนของประเทศไทย นั้น ทาง ดร.วิโรจน์ ได้สะท้อน-ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า… ในภาพรวมก็ถือว่าไทยทำคะแนนได้ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยไทยได้อันดับ 1 ในส่วนการตรวจและรายงาน และโดยเฉพาะในหัวข้อการวางแผนรับมือนั้นไทยได้ 100 คะแนนเต็ม ทว่าในอีกหัวข้อ การปฏิบัติตามแผน สำหรับคะแนนในส่วนนี้ไทยทำได้เพียง 25 คะแนนเท่านั้น ในระยะ 2 ปี ซึ่งนี่ก็สะท้อนว่า… ไม่มีประเทศใดที่จะมีความพร้อมทุกด้านในการรับมือเรื่องนี้

“อนาคต ทั่วโลก และไทย อาจเผชิญการระบาดจากโรคอื่น ๆ เหมือนโควิด-19 ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ การเตรียมความพร้อมไว้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะความพร้อมของระบบพื้นฐานต่าง ๆ เนื่องจากถ้าระบบพื้นฐานมีปัญหาก็จะกระทบไปถึงความมั่นคงทางสุขภาพ” …ดร.วิโรจน์ นักวิชาการ TDRI ระบุไว้ถึง “สิ่งที่ต้องทำ” ซึ่ง “รวมถึงไทย”

ไทย “อันดับขยับขึ้น” …แต่ลึก ๆ คะแนนลดลง”

“ปฏิบัติตามแผน” …มีคะแนนชี้ ไทยยังไม่โอเค”

นี่สะท้อนว่า…ไทยยังต้องเร่งพัฒนาอีกเยอะ!!” .