และแล้วก็ดูจะ “เสี่ยงโกลาหลอีก??” สำหรับ “การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโควิด” ระลอกที่มี “สายพันธุ์โอมิครอน” นำทัพคุกคามมนุษย์ โดยเฉพาะกับผู้ที่ “ฐานะไม่ดี-ไม่มีชื่อเสียง” ซึ่งก่อนหน้านี้ “รัฐบาลระดับนโยบาย” มีการ “พูดพร่ำถึงความพร้อม” เป็นระยะ ๆ แล้วเมื่อผู้ป่วยรายวันขยับขึ้นเป็นหลักหลายหมื่น สภาพการรองรับ ตั้งแต่กับผู้ที่รักษาตัวที่บ้าน และโดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล “เอาเข้าจริงเป็นเช่นไร??” ก็ลองพินิจกันดู??…

ล่าสุด “การรองรับดีขึ้นหรือยังแย่??” ก็ว่ากันไป…

แต่ “ความพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด” ก็ต้องโฟกัสอีก

“ต้องโฟกัสสิ่งที่รัฐบาลต้องหนุนเพิ่ม”…ไปถึงไหน??

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับ “ทัพหน้าสู้โควิด” กล่าวสำหรับ “แพทย์-พยาบาล-บุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายต่าง ๆ” โดยเฉพาะในโรงพยาบาล-สถานพยาบาลต่าง ๆ ที่สังกัดภาครัฐนั้น ที่ผ่านมาต้อง “สู้ศึก-รับศึกกันสะบักสะบอม!!” อีกทั้งยังมีบางส่วนเกิดการ “สูญเสีย!!” อันเกี่ยวโยงจากกรณีโควิด ซึ่งหากโรงพยาบาล-สถานพยาบาลต่าง ๆ แพทย์-พยาบาล-บุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายต่าง ๆ “ได้รับการสนับสนุนการสู้ศึกโควิดอย่างเพียงพอ” ก็จะไม่เพียงเป็นการสนับสนุนให้ “เผด็จศึกโควิดได้ดีขึ้น” หากแต่ยัง “มีผลโดยตรงต่อการรองรับผู้ป่วยโควิดได้ดีขึ้นไม่โกลาหลระคนอนาถ!!”

และเกี่ยวกับการสนับสนุนการสู้ศึกโควิดของทัพหน้านี้ ที่ผ่านมาก็มีการระบุ-มีการแนะนำ-มีการเสนอต่อรัฐบาล โดยหลายส่วน-หลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุข ก็เคยมี “ข้อเสนอแนะถึงผู้กำหนดนโยบาย” ที่เป็นข้อเสนอ “ให้มีการสนับสนุนการอุดรูรั่วของระบบบริการสุขภาพไทย” โดยเป็นข้อเสนอที่มิใช่อะไรที่เลื่อนลอย เป็นข้อเสนอที่ได้จากงานวิจัย ที่มีเป้าหมายค้นหา “ปัจจัย” ที่ทำให้เคยเกิด “ปัญหาระบบบริการสุขภาพภายใต้สถานการณ์โควิด”

โดยที่… ขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็น, ขาดการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับนโยบาย, ไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจจนมีปัญหาในการตัดสินใจเชิงนโยบาย-การออกมาตรการ, การเลือกใช้ข้อมูลมาประเมินคาดการณ์สถานการณ์มีปัญหา …นี่คือหลัก ๆ เกี่ยวกับปัจจัย “รูรั่ว” ที่เคยมีการ “เสนอให้ผู้กำหนดนโยบายทำการอุด” ตั้งแต่ชั้นหน่วยงาน กระทรวงต่าง ๆ โดยเฉพาะรัฐบาล…ที่ยิ่ง “ต้องหนุนต้องทำ”

เพื่อที่จะ “แก้ไขวิกฤติบริการสาธารณสุขจากโควิด”

ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ นอกจากรูรั่วใหญ่ ๆ ดังที่ว่ามาแล้ว ก็ยังมีการชี้ “สาเหตุปัญหา” ที่เคยเกิดขึ้นไว้อีก เช่น… การจัดบริการของโรงพยาบาลเพื่อตอบสนองสถานการณ์โควิดนั้น ที่มีปัญหาเพราะมีประเด็น ไม่สามารถดำเนินการได้ในระบบบริการปกติของโรงพยาบาล เพราะความต้องการใช้เตียงผู้ป่วยเพิ่มสูงรวดเร็วจนเกินขีดความสามารถปกติจะรองรับได้ จนโรงพยาบาล ระบบสุขภาพ ต้องจัด “บริการชั่วคราว” รูปแบบต่าง ๆ เพื่อ “รองรับผู้ป่วยโควิด”

สถานการณ์ โควิดระบาด…ทำให้มีผลกระทบกับโรงพยาบาลในหลายด้าน ทั้งการรักษาพยาบาลผู้ที่ป่วย การจัดการสถานที่ การจัดการบุคลากร การจัดการยา-เวชภัณฑ์-อุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงการสื่อสาร ซึ่งเหล่านี้ ล่าสุดก็ยังมีปัญหา-มีการอ้างถึง…ที่ยึดโยง “การเข้าไม่ถึงการรักษาของผู้ป่วยโควิด” เช่น… “เพราะสื่อสารผิดพลาด” “เพราะติดวันหยุดราชการ” และ รวมถึงกรณี “เตียง” ซึ่งอย่างหลังนี่ก็เคยมีการเสนอว่า จำเป็นต้องทบทวนและเตรียมการสำหรับ “การจัดการระบบเตียง-การเข้าถึงเตียงของผู้ป่วย” เพื่อให้รองรับสถานการณ์ได้เป็นระบบมากขึ้น ทั้งกรณีโควิด รวมถึงโรคติดต่อที่ร้ายแรงใหม่ ๆ …ซึ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ระดับนโยบายต้องทำต้องหนุนเต็มที่!!

ต้องหนุนให้พร้อมจริง…ที่พูดว่าพร้อมจึงจะจริง!!

ทั้งนี้ นอกจากข้อเสนอดังที่ได้ระบุมาโดยสังเขป ก็ยังมี “ข้อเสนอแนะถึงผู้กำหนดนโยบาย” มีการเสนอแนะเชิงนโยบายไว้โดยหน่วยงานที่มีความเป็นกลางที่น่าเชื่อถือหน่วยงานอื่น ๆ อีก อย่างเช่น “ข้อเสนอต่อรัฐบาล” ที่ว่า…ควรต้องเร่งลงทุนระบบสาธารณสุขเพิ่มเติมในด้านสำคัญ รองรับสถานการณ์โควิดรองรับผู้ป่วยโควิดที่พุ่งสูง

โดยที่การลงทุน… ยกระดับมาตรการกักแยกตัว ยกระดับการรักษาผู้ป่วย เพื่อให้ การสกัดกั้นการระบาดของโควิดทำได้ดีขึ้น การรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงทีทำได้ดีขึ้น กับลงทุน… เพิ่มเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครในการดูแลผู้ป่วย โดยมีเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครที่ไม่ใช่บุคลากรการแพทย์มาแบ่งเบาภาระบุคลากรการแพทย์ เพื่อให้ การสู้ศึกโควิดช่วยผู้ป่วยทำได้ดีขึ้น และ ไม่มีใครถูกทิ้งให้รอรอรอ…” ไม่เกิดกรณีโกลาหลระคนอนาถ” …นี่ก็เป็นส่วนสำคัญจากด้านสำคัญ ๆ ที่เคยมีการเสนอให้ผู้กำหนดนโยบาย รัฐบาล เร่งทำ …ซึ่ง “ทำแล้ว? ทำได้ดีแล้ว? หรือยัง??”

กับ “ข้อเสนอแนะ” ประเด็นต่าง ๆ ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้พลิกแฟ้มนำมาสะท้อนไว้อีกนี้ ก็เน้นย้ำว่า “มิใช่เพิ่งจะมี!!…มีนานแล้ว!!” ซึ่งหากมีการรับฟังและนำไปปรับใช้เพื่อแก้ไขป้องกันปัญหาที่เคยเกิด หากฝ่ายปฏิบัติได้รับการ “สนับสนุนจริงจังจริง ๆ” แล้ว สถานการณ์ “ผู้ป่วยโควิดโกลาหลระคนอนาถ” ก็ย่อมไม่เกิดอีก หรือเกิดก็น้อยมาก

คนไทยได้ยินคำว่า “พร้อมรับมือโควิด” กันจนชินหู

แต่ เอาเข้าจริงลองพินิจกันดูพร้อม?-ไม่พร้อม?”

ขณะที่กรณี พร้อมรับผิดชอบ (เสียที)…ก็น่าคิด??” .