…ไม่ใช่เพราะมีผู้เสียหายจำนวนมากทั้งที่รอดชีวิต หรือเสียชีวิตไปแล้ว 

แต่พฤติการณ์กระทำทรมานโหดร้ายที่นำพาคนเหล่านี้เข้ามา ความเชื่อมโยงอันนำไปสู่คำพิพากษาลงโทษข้าราชการระดับสูง-ผู้มีอิทธิพล ผลพวงที่พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รอง ผบช.ภ.8  ผู้รับผิดชอบคดีในขณะนั้น  ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ  ทำให้คดีค้ามนุษย์ครั้งนั้น ยังคงสถิติเลวร้ายที่สุดของประเทศไทย 

ย้อนไปเกือบ 7 ปี จวบจนวันนี้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในมุมมองของ น.ส.พุทธณี  กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนประจำประเทศไทย ฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Right) ยอมรับครั้งนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ และจนวันนี้ก็ยังเป็นขบวนการค้ามนุษย์ที่ใหญ่ที่สุด  มีจำเลย และผู้เสียหายมากที่สุด กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกจับตาจากทั่วโลกซึ่งมองการนำคนมาเป็นทาสไม่ควรเกิดขึ้นแล้ว  ที่สำคัญเป็นคดีที่สะท้อนความพัวพันของเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่เบื้องหลังขบวนการค้าที่ต้องอาศัยทั้งอิทธิพลและอำนาจ  โดยสรุปคือคดีนี้ส่งผลหลายมิติทั้งการดำเนินคดี ผู้เกี่ยวข้อง และทัศนคติของสังคม

โดยเฉพาะคดีเพราะแรงกดดันทำให้มีกระบวนการตรวจสอบดำเนินการอย่างจริงจัง จนภายหลังหลายหน่วยงานมีคณะทำงานเฉพาะในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ไม่ว่ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กระทรวงมหาดไทย  ตำรวจ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ขณะเดียวกันยังนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายเพิ่มนิยามการบังคับใช้แรงงานเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ถือเป็นมาตรการเชิงบวกของรัฐที่ทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากอดีต

สำหรับเหยื่อไม่ได้มีเฉพาะชาวโรฮีนจา แต่มีชาวบังคลาเทศรวมอยู่ด้วย ขณะนั้นมีความพยายามคัดกรองเหยื่อจากการค้ามนุษย์โดยสหวิชาชีพ เพื่อให้การดูแลตามระบบ และประสาน UNHCR และ IOM เรื่องกระบวนการส่งต่อไปประเทศที่สาม ถือว่ารัฐพยายามจัดการดีพอสมควร แต่เพราะตกค้างหลายปีและไม่สามารถได้อิสระในการเดินทาง จุดนี้ยังเป็นอุปสรรคที่รัฐต้องหาแนวทางดูแลเหยื่อให้แตกต่างจากผู้ถูกกักทั่วไป รวมถึงการชดเชยเงินที่รัฐยังล่าช้า ตามไม่ทันเหยื่อส่วนใหญ่ที่เดินทางไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามแล้ว

น.ส.พุทธณี ให้ความเห็นถึงเส้นทางการค้ามนุษย์ในปัจจุบันว่า  จากการติดตามไม่พบว่ามีขบวนการใหญ่แบบที่พบเมื่อปี 2558 แต่ด้วยปัจจัยหลายด้านของประเทศต้นทาง ทำให้ขบวนการนำพายังมีเข้ามาสม่ำเสมอ  ยกตัวอย่าง ปัญหาในเมียนมาร์นอกจากความขัดแย้งในรัฐยะไข่ที่ทำให้ชาวโรฮีนจาต้องหนีภัยแล้ว  การรัฐประหารและจัดการกับชนกลุ่มน้อยทำให้บางส่วนต้องหลบหนีเข้าประเทศไทยด้วย

“แรงผลักดันต้นทางที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดและมีแนวโน้มมากขึ้น นอกจากภัยประหัตประหาร ยังกระทบเศรษฐกิจ การคว่ำบาตรทางการค้า เกิดภาวะฝืดเคือง จึงทำให้เกิดการนำพาทั้งแบบลักลอบ  และค้ามนุษย์ ซึ่งจุดที่เหมือนกันคือต้องจ่ายเงิน”

ส่วนข้อกังวลผลกระทบการจัดอันดับรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์( Tip report) ส่วนตัวมองว่าเทียร์(Tier)ไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริง 100% แต่ยอมรับว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการผลักดันรัฐบาลให้พัฒนา  นอกจากนี้มองว่าประเทศไทยควรยกระดับการดูแลเหยื่อมากขึ้นตามหลักสากล ไม่ใช่อาชญากร 

อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับการวัดประสิทธิภาพจากปริมาณคดี เพราะอาจทำให้ข้อเท็จจริงผิดเพี้ยน พร้อมตั้งข้อสังเกตขบวนการเหล่านี้ยังคงอยู่ได้เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม  ดังนั้น หากถามความคาดหวังจากบทเรียนคดีต้องบอกว่า การปรับปรุงคุ้มครองผู้ที่สืบหาความจริงสำคัญมาก

จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนคนทำงาน เพราะคดีค้ามนุษย์แทบทุกคดีมักมีเจ้าหน้าที่รัฐหลายระดับเข้าไปพัวพัน ทำให้เมื่อสืบหาจนเจอความสัมพันธ์แล้วมักเกิดปัญหา จุดนี้เองเป็นข้อสังเกตว่าจะปกป้องได้อย่างไร  จะทำอย่างไรให้คนทำงานมั่นใจได้ว่าเมื่อเจอข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจ หรืออิทธิพลแล้ว คนเหล่านี้จะได้รับการปกป้องให้ทำงานต่อได้” น.ส.พุทธณี ระบุ

แม้หลายมิติปัญหาค้ามนุษย์จะถูกพัฒนาดีขึ้น  แต่สุดท้ายหากกระบวนการสำคัญอย่างการสืบหาความจริงเพื่อดำเนินคดี อาจถูก“เช็คบิล”ซะเอง คงยากกับการการันตีว่าจะไม่มีขบวนการค้ามนุษย์ขนาดใหญ่เติบโตขึ้นมาอีกในอนาคต. 

ทีมข่าวอาชญากรรมรายงาน

[email protected]