“ทีมการเมืองเดลินิวส์” ต้องมาสนทนากับ “ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ถึงสถานการณ์การเมืองนับจากนี้

โดย “ดร.สติธร” เปิดฉากกล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่า ตอนนี้เสถียรภาพของรัฐบาลไม่ค่อยดีเท่าไหร่ สะท้อนผ่านหลายเหตุการณ์ เช่น 1. การแยกตัวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ออกไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย ทำให้เกิดความสะเทือนต่อ พปชร.ซึ่งเป็นพรรคหลักของรัฐบาล เกิดความไม่แน่นอนว่า อนาคตจะยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ต่อในสมัยนี้ หรือในการเลือกตั้งสมัยหน้าหรือไม่ 2. สภาล่มบ่อย แปลว่ารัฐบาลคุมเสียงข้างมาก ที่รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลไว้ไม่ได้ แปลว่ามีปัญหาทั้งพรรคหลักพรรคร่วมเลยเป็นที่มาหรือมีข่าวลือว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ นายกฯ เอาไม่อยู่จนต้องยุบสภาหรือไม่ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นช่วงปีท้าย ๆ ของรัฐบาล ทุกพรรคการเมืองเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ยุบสภาเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่ ทุกพรรคการเมืองจึงเตรียมล้างไพ่ เตรียมตัวสู่การเลือกตั้งใหม่ ใครชนะได้ ส.ส.เข้ามาก็ค่อยว่ากัน ดังนั้นก่อนหน้านี้อะไรที่อาจจะยอมกันได้บ้าง ตอนนี้ก็ไม่ได้ อยากต่อรองมากขึ้นเพื่อความมั่นคงในอนาคต คนที่ออกจาก พปชร.ไปมีการต่อรองเก้าอี้ว่าง ส่วนคนที่ยังอยู่ก็ต่อรองตำแหน่งทางบริหาร หรือเพื่อความมั่นคงในอนาคต เช่น อยากลงเขตที่อยากลง อยากลงปาร์ตี้ลิสต์ในลำดับที่อยากได้

@ มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะเร่งให้เกิดการยุบสภาได้

อำนาจอยู่ในมือของนายกฯ คนตัดสินใจยุบหรือไม่ยุบก็ต้องเป็นตัวนายกฯ ซึ่งนายกฯ ก็คงประเมินปัจจัย 1. มีกฎหมายสำคัญเข้าสู่สภาแล้วถูกโหวตตก คนก็จะเรียกร้องความรับผิดชอบจากนายกฯ 2. ไฟต์บังคับ คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ คุมเสียงไม่ได้ก็ไปโดยปริยาย ถ้าประเมินแล้วกรณีนี้ไม่ได้แน่ ทางที่ดีก็ชิงยุบตามปัจจัยข้อที่ 1 ก่อน จะได้ไม่ต้องมารอพิสูจน์ชะตากรรม แต่ปัญหาคือตอนนี้ ไม่มีกฎหมายสำคัญอะไรที่จะเข้าในช่วงนี้เลย แต่ถ้าถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วยังรอดไม่ได้แปลว่าหลังจากนั้นทุกอย่างจะราบรื่น แน่นอนในมุมของนายกฯ ก็จะมีความสบายใจมากขึ้นกับการต่อรอง

@ กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งเป็นปัจจัยนำไปสู่การยุบสภาหรือไม่

กฎหมาย 2 ฉบับที่เข้าสภานั้น  กรณีกฎหมายการเลือกตั้งตอนนี้ไม่มีอะไรแล้ว ชัดเจนว่า แก้ให้สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องบัตรเลือกตั้ง และเหลือประเด็นที่ยังเถียงกันว่าเบอร์เดียวกันหรือคนละเบอร์แค่นั้น ส่วนตัวที่น่าจะยุ่งคือกฎหมายพรรคการเมือง เพราะเขาไม่ได้อยากแก้แค่จำนวนที่เปลี่ยนไปอย่างที่กกต.เสนอ แต่อยากแก้อย่างอื่นด้วย เช่น เรื่องไพรมารี่ แต่คนที่จะขวาง คือ ส.ว. ถ้าคุยกันลงตัวแล้วออกมาในแนวที่อยากได้พรรคต่างๆ จะขับเคลื่อนอะไรได้ง่ายขึ้น ชัดเจนว่าเขาสามารถส่งผู้สมัครได้ คาดหวังหรือการันตีได้ว่า จะได้ที่นั่งเท่าไหร่ ก็จะเป็นเงื่อนไขเพื่อมาต่อรองกันได้ การขับเคลื่อนการเมืองสู่การเลือกตั้ง

แต่วันนี้กฎหมาย 2 ตัวนี้ยังไม่ผ่าน โดยเฉพาะกฎหมายเลือกตั้งที่ต้องเอาไปรองรับระบบการเลือกตั้ง 2 ใบ หากเกิดการยุบสภาก่อนบางคนบอกว่าจะมีปัญหาข้อกฎหมาย พ.ร.ก.ตัวเก่ายังไม่ได้แก้ แต่รัฐธรรมนูญแก้แล้ว จะเกิดปัญหาเดดล็อก ในขณะที่รัฐบาลก็ยุบสภาแล้วจะทำอย่างไร ถ้าออกพระราชกำหนดมาใช้ไปพรางๆ ก่อน คนที่ต้องทำตามก็มีคำถามอีกว่าทำได้หรือไม่ แล้วไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ต้องใช้เวลา ตอนนี้จึงต้องมาเถียงกันให้เสร็จ ก็จะมีชั้นกรรมาธิการวาระ 2 วาระ 3 เอาไปแขวนรอให้ศาลรัฐธรรมนูญดูความถูกต้องอีก เผลอๆ ลากข้ามการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ด้วย เพราะฉะนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็อาจจะเป็นช่วงการคาบเกี่ยวที่กฎหมายนี้ยังไม่ประกาศใช้ก็ได้

“เดดล็อกถือเป็นอาวุธสำคัญ เป็นอำนาจต่อรองสำหรับนายกฯ ที่เป็นคนตัดสินใจว่าจะยุบหรือไม่ยุบ ฝั่งนักการเมืองก็ไม่กล้าต่อรองเต็มที่ เพราะถ้าเกิดสุญญากาศจริงๆ ยุบสภาในขณะที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังแก้ไม่เสร็จ ต้องตีความ ในขณะที่สภาไปแล้ว ส.ส.ไปแล้ว แต่รัฐบาลยังอยู่ในฐานะรัฐบาลรักษาการ ที่มีอำนาจเต็มที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ยังประกาศใช้สำหรับจัดการกับโรคโควิด”   

@ แสดงว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่มีการยุบสภา

น่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างน้อยต้องผ่านจุดเสี่ยงของนายกฯ เพราะดูตามไทม์ไลน์กฎหมายประกอบแล้ว น่าจะคร่อมผ่านวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากนายกฯ ตัดสินใจไม่ยุบสภา แล้วปล่อยให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจไป เขาก็ยังมีโอกาสที่จะมีเครื่องมือในการคุมเสียงข้างมากในสภา ให้โหวตสนับสนุนได้

@ ในสภาพที่ยุบสภาเสี่ยงเดดล็อก กับลากไปก่อนแบบไหนจะดีกว่ากัน

ประชาชนเบื่อหน่ายกับเรื่องแบบนี้ และกลายเป็นหมดศรัทธากับการเมืองภาคตัวแทนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเห็นแต่การต่อรองผลประโยชน์อย่างเดียว เหมือนไม่เห็นหัวประชาชน เรื่องสำคัญหรือไม่สำคัญไม่รู้ แต่จะใช้เรื่องนี้เพื่อดิสเครดิตอีกฝ่าย อภิปรายไม่ไว้วางใจจบ อาจจะได้ซักฟอกรัฐบาล แต่ก็จะเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเอาไว้ต่อรอง ถ้าการเมืองแบบตัวแทนดูสิ้นหวังเพราะไม่ได้ทำงานบนพื้นฐานการตอบสนองของประชาชน ประชาชนก็ต้องเรียกร้องผ่านช่องทางของตัวเอง ซึ่งเป็นอำนาจหลักอำนาจเดียวที่เรามี  อย่างน้อยไม่ว่าวันนี้เขาจะสู้กันอย่างไร สุดท้ายวันหนึ่งก็ต้องยุบสภา ต้องหมดวาระ ต้องมีการเลือกตั้ง แล้วจะกลับเข้าสู่โหมดเลือกตั้งโดยให้เขาทำแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขายฝันอีก ประชาชนต้องไม่ทำตัวเชื่องๆ ให้เขาเล่นเกมอะไรก็ได้ ต้องส่งสัญญาณบอกเขาว่า หากยังเล่นการเมืองแบบนี้ ถึงเวลา “ชั้นจะลงโทษแก” เพราะสุดท้ายเขาก็ต้องมาขอคะแนนจากประชาชน แสดงให้เขาเห็นว่าเราจับตาดูอยู่