เข้าสู่โค้งสุดท้าย! สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 135 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 2.99 หมื่นล้านบาท 1 ใน 7 เส้นทางของโครงการรถไฟทางคู่ระยะ (เฟส) ที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) ระยะทางรวม 993 กม. ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินงานโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และกิจการร่วมค้า ไอทีดี-อาร์ที วันนี้ภาพรวมการก่อสร้างคืบหน้าทะลุ 91.8% แล้ว

ล่าสุด รฟท. จัดกิจกรรม Press Tour นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการฯ สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงสถานีมาบกะเบา-สถานีคลองขนานจิตร ระยะทาง 58 กม. สัญญาที่ 3งานก่อสร้างอุโมงค์ งานอุโมงค์ที่ 1 ช่วงสถานีมาบกะเบา-สถานีหินลับ ระยะทาง 5.8 กม. และงานอุโมงค์ที่ 2 ช่วงสถานีหินลับ-สถานีมวกเหล็ก ระยะทาง 650 เมตร เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการฯ โดยมี นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. และคณะผู้บริหาร รฟท. ร่วมเดินทางตลอดทริป

ผู้ว่าการ รฟท. อัพเดทสถานะโครงการฯ ให้ฟังว่า ภาพรวมการก่อสร้างคืบหน้า 91.8%

โดยสัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร 58 กม. คืบหน้า 93.52% ช้ากว่าแผน 6.48% ยังมีปัญหา รฟท. ส่งมอบพื้นที่เวนคืนบางส่วนประมาณ 7% ให้ผู้รับจ้างล่าช้า เนื่องจากค่าทดแทนเดิมไม่เพียงพอ และ พ.ร.ฎ.เวนคืนหมดอายุ ปัจจุบัน รฟท.เสนอขอเพิ่มกรอบวงเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ โครงการฯ อีกประมาณ 286 ล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว

เบื้องต้นทราบว่าอยู่ในขั้นตอนสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป จากนั้น รฟท.จึงจะสามารถส่งมอบพื้นที่ เพื่อให้ผู้รับจ้างก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 65

สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ 69 กม. รฟท. ได้รับข้อร้องเรียนจากเทศบาลบ้านใหม่ จ.นครราชสีมา ให้ปรับแบบก่อสร้างเป็นทางรถไฟโครงสร้างยกระดับ ทดแทนคันดินยกระดับ อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบที่เหมาะสมร่วมกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย เฟสที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม พิจารณามอบหมายแนวทางได้ภายในเดือน มี.ค.65 จากนั้นจึงเสนอรายงานขออนุมัติดำเนินโครงการได้ตามขั้นตอนต่อไป

สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ ระยะทางรวมประมาณ 7.9 กม. คืบหน้า 90.03% ล่าช้ากว่าแผน 9.96% ติดปัญหาเรื่องพื้นที่เวนคืนบางส่วนของโครงการยังไม่ได้รับการมอบพื้นที่ โดย รฟท. ต้องรอ ครม. เห็นชอบการขอเพิ่มกรอบวงเงินฯ และดำเนินการเช่นเดียวกับสัญญาที่ 1 นอกจากนี้ช่วงที่ผ่านมาแรงงาน ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 200-300 คน ปัจจุบันหายดี และกลับมาทำงานปกติแล้ว

ส่วนสัญญาที่ 4 งานจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม คืบหน้า 11.17% ช้ากว่าแผน 29.54% สาเหตุที่ล่าช้า เนื่องจากขอบเขตงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณฯ อยู่ในพื้นที่สัญญาที่ 2 ประมาณ 50% ทำให้ รฟท. ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างในส่วนนี้ได้

โครงการรถไฟทางคู่สายอีสาน มีไฮไลต์สำคัญอยู่ที่มีอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยอุโมงค์ที่ 1 อยู่ระหว่างสถานีมาบกะเบา ผาเสด็จ และหินลับ จ.สระบุรี ระยะทาง 5.85กม. รูปแบบอุโมงค์คู่-ทางเดี่ยว เป็นอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวมากที่สุดในไทย, อุโมงค์ที่ 2 บริเวณบ้านหินลับ (เขามะกอก)-มวกเหล็ก ระยะทาง 650เมตร เป็นอุโมงค์เดี่ยว-ทางคู่ และอุโมงค์ที่ 3 บริเวณอ่างเก็บน้ำลำตะคอง-คลองไผ่ ระยะทาง 1.4 กม. เป็นอุโมงค์คู่-ทางเดี่ยว

นอกจากนี้ยังมีทางรถไฟยกระดับสูงที่สุดในไทย อยู่บริเวณมาบกะเบา-กลางดง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ระยะทางประมาณ 5 กม. มีความกว้างด้านบน 10.2 เมตร มีความสูงประมาณ 48-50 เมตร สาเหตุที่ต้องยกระดับ เนื่องจากพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ มีขอบภูเขาสองฝั่ง จำเป็นต้องสร้างทางยกระดับข้าม โดยจุดสูงสุด 50 เมตร (ประมาณตึก 15 ชั้น) อยู่บริเวณคลองมวกเหล็ก สถานีมวกเหล็กใหม่ มีระยะทางประมาณ 1 กม. ในอนาคตจะกลายเป็นหนึ่งในสถานีรถไฟที่มีวิวทิวทัศน์สวยที่สุดในไทย

นายกฤษดา มัชฌิมาภิโร วิศวกรโครงการฯ บอกว่า รฟท. กำลังเร่งแก้ปัญหาในทุกเรื่องที่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างโครงการฯ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถในช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ได้ก่อนในปี 66 ขณะที่ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 68 เปิดให้บริการปลายปี 69 ล่าช้ากว่าแผนเดิมของ รฟท. ที่มีเป้าหมายจะเปิดบริการทั้งโครงการในปี 65

นายกฤษดา ยังให้ความมั่นใจเรื่องระบบความปลอดภัยภายในอุโมงค์รถไฟด้วยว่า อุโมงค์มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง และทันสมัย มีทางออกฉุกเฉินทุก 500 เมตร สามารถอพยพผู้โดยสารออกอีกทางหนึ่งได้ ใช้เวลา 6.37นาที จะถึงที่ปลอดภัย ภายในอุโมงค์มีเครื่องวัดอุณหภูมิ และแจ้งเตือนเมื่อเกิดเพลิงไหม้ มีระบบระบายอากาศเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถระบายควันออกได้ไม่เกิน 5นาที

นอกจากนี้ยังมีกล้องซีซีทีวี มีระบบดับเพลิง มีสายฉีดน้ำทุก 60 เมตร มีระบบตรวจจับก๊าซพิษ โทรศัพท์ฉุกเฉิน ไฟสำรองฉุกเฉิน พร้อมระบบเซ็นเซอร์หน้าอุโมงค์ตรวจจับคน และสัตว์ ไม่ให้เข้าอุโมงค์ ขณะเดียวกันยังมีระบบระบายน้ำใต้อุโมงค์ โดยระบายลงเขื่อนลำตะคอง ซึ่งอยู่ด้านข้างได้อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายอีสาน ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ มีทั้งสิ้น 20 สถานี ได้แก่ สถานีมาบกะเบา, มวกเหล็กใหม่, ปางอโศก, บันได้ม้า, ปากช่อง, ซับม่วง, จันทึก, คลองขนานจิตร, คลองไผ่, ลาดบัวขาว, บ้านใหม่สำโรง, หนองน้ำขุ่น, สีคิ้ว, โคกสะอาด, สูงเนิน, กุดจิก, โคกกรวด, ภูเขาลาด, นครราชสีมา และชุมทางถนนจิระ

สามารถเพิ่มความเร็วในการเดินรถไฟขนส่งสินค้าจากเดิมเฉลี่ย 29 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.) เป็น 60 กม.ต่อ ชม. และรถไฟขนส่งผู้โดยสาร จากเดิม 50 กม.ต่อ ชม. เป็น 100-120 กม.ต่อ ชม. ช่วยลดระยะเวลาเดินทาง จากเดิมทางเดี่ยว 86 นาที เป็น 40 นาที

รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงทาง จาก 10 ล้านบาทต่อปี เป็นไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อปี เพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้า จาก 12,884 ตันวัน เป็น 23,657 ตันต่อวันในปีที่เปิดบริการ เพิ่มปริมาณผู้โดยสาร จาก 33,336 คนต่อวัน เป็น 58,647 คนต่อวัน ช่วยลดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร และพนักงานขับรถ เนื่องจากไม่มีจุดตัดทางรถไฟ จากเดิมทางเดี่ยวจะมีจุดตัดทางรถไฟ 35 จุดตัด

ทางคู่สายนี้เชื่อมกับทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ซึ่งเปิดบริการไปแล้ว และจากขอนแก่น จะมีเส้นทางรถไฟไปหนองคายเชื่อมต่อไป สปป.ลาวได้ แต่ปัจจุบันยังเป็นรางเดี่ยว ในอนาคต รฟท. มีแผนจะพัฒนาเป็นทางคู่ในเฟส 2

ขณะเดียวกันรถไฟทางคู่ “มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ” ยังทรงพลังเชื่อมต่อรถไฟทางเดี่ยวเส้นทาง “ชุมทางจิระ-อุบลราชธานี” ได้อีกด้วย .

————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง