“เหมืองซาโดะ” เป็นชื่อเรียกโดยรวมสำหรับกลุ่มเหมืองทองคำและเงิน ตั้งอยู่บนเกาะซาโดะ ในจังหวัดนีงาตะ ริมชายฝั่งตะวันตกตอนกลางของญี่ปุ่น ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้กำลังเป็นศูนย์กลางแห่งล่าสุด ของความขัดแย้งทางการทูตและประวัติศาสตร์ ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ เมื่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฟุมิโอ คิชิดะ เสนอชื่อเหมืองซาโดะ ให้เข้ารับการพิจารณาจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี 2566

ทั้งนี้ หนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการเสนอสถานที่สำคัญทางธรรมชาติและวัฒนธรรมแห่งใดแห่งหนึ่ง ให้เข้ารับการพิจารณาจากยูเนสโก ก่อนอื่นต้องมีการจัดทำบัญชีรายชื่อสถานที่ซึ่งมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ บัญชีที่ว่านี้นี้เรียกว่า “บัญชีรายชื่อเบื้องต้น” หรือ “ว่าที่มรดกโลก” โดยสถานที่ซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ตามรายชื่อนี้เท่านั้น จึงจะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมของญี่ปุ่นดำเนินการดังกล่าวกับเหมืองซาโดะ เสร็จสิ้นเมื่อปี 2553

เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันการเสนอชื่อเหมืองแห่งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้มีปฏิกิริยาทันที วิจารณ์การดำเนินการของรัฐบาลโตเกียว “คือการเพิกเฉยต่อประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดของการใช้แรงงานทาส” และเรียกร้องญี่ปุ่นระงับหรือชะลอการเสนอชื่อเหมืองซาโดะออกไปก่อน โดยในระหว่างนี้ขอให้กลับมาเจรจากันอีกครั้ง

สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดไปนานกว่า 75 ปีแล้ว ทว่าตอนนี้ ทั้งสองประเทศกลับมาขัดแย้งกันอีกในประเด็นเดิม นั่นคือ ญี่ปุ่น “ให้การชดเชย” หรือ “ไถ่โทษ” เพียงพอแล้วหรือไม่ กับการเป็นฝ่ายล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นในสมัยสงคราม ที่เป็นคนละประเด็นกับการตั้งกองทุนชดเชย แต่คือการ “เข้าใจและยอมรับความจริง”

หนึ่งในเหมืองซาโดะแห่งแรก เปิดดำเนินการเมื่อศตวรรษที่ 12 และเหมืองแห่งสุดท้าย ปิดตัวไปเมื่อปี 2532 แต่ข้อมูลประกอบการพิจารณาที่รัฐบาลญี่ปุ่นส่งให้กับยูเนสโกนั้น กลับเน้นไปที่ช่วงเวลาระหว่างปี 2146-2410 ซึ่งเป็นช่วงที่คนงานเหมืองชาวญี่ปุ่น ขุดหาทองด้วยเครื่องมือพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม “ความพยายามโน้มน้าว” ให้ยูเนสโกยอมรับสถานที่แห่งหนึ่ง ด้วยการ “ตีกรอบทางประวัติศาสตร์” อาจไม่ใช่การกระทำที่สมบูรณ์เท่าใดนัก ในเมืองประวัติศาสตร์ของเหมืองซาโดะ “มีมากกว่านั้น” การบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ถือเป็นการเคารพและให้เกียรติประวัติศาสตร์ เพราะแม้แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ยังส่งสัญญาณ “พร้อมร่วมพิจารณา” หากญี่ปุ่นแก้ไขข้อมูลประกอบการเสนอชื่อเหมืองแห่งนี้ “ให้ครอบคลุมเรื่องราวทั้งหมด”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS