พบกับคอลัมน์ “สังคมภูมิภาค” ออนไลน์ทุกวันเสาร์ “เมธ บานเย็น” ศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคอีสานตอนล่าง มารับใช้ผู้อ่านบนโลกออนไลน์ เช่นเดิม วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2565

@ เบิ่งอีสาน รอบสัปดาห์นี้..โคราช เกิดเรื่องเศร้าของผู้ปกครอง จากปัญหาซ้ำๆ รับน้องเสียชีวิต..ศรีสะเกษ ตรวจสต๊อกปุ๋ยเคมี-ยากำจัดศัตรูพืช..สุรินทร์ เป็นจังหวัดนำร่อง กำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น…

@ อุบลราชธานี โควิดพุ่งเกือบแตะ 2 พันราย-ต่อวัน..อำนาจเจริญ ลงนามรับชื้อข้าวหอมมะลิ จากดินแดนแห่งตะวันอ้อมข้าว..ยโสธร ผุดโครงการเยาวชนศาสนิกสัมพันธ์..ชัยภูมิ ได้รับประกาศเกียรติคุณค่าของแผ่นดิน “ด้านสาธารณสุข”

@ ไปที่ จ.นครราชสีมา…จากกรณีรุ่นพี่มีจัดกิจกรรมรับน้อง ทำให้ “น้องเปรม” นักศึกษา ปวส.ปี 1 ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา ถูกรุมทำร้ายจนเสียชีวิต แม้ว่ามหาวิทยาลัย ได้ยกเลิกการรับน้องกันมานานแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือน “ปากว่าตาขยิบ” แอบจัดรับน้องนอกสถานที่อยู่เรื่อยๆ มักมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่ก็คึกคะนอง จนเกิดเรื่องเศร้าเคล้าน้ำตา ของผู้ปกครองผู้สูญเสีย และผู้ร่วมก่อเหตุ ทั้ง 2 ฝ่ายตลอดมา ความจริงแล้วการรับน้องโหด มีกฎหมายเกี่ยวกับความผิดอยู่มาก มีทั้ง “ความผิดคดีอาญา และคดีแพ่ง” แม้แต่ “สถาบันที่ปล่อยปละละเลย” ก็ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายด้วยเช่นกัน เพื่อให้มีการเข้มงวดกวดขัน ไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาอีกต่อไป

@ ที่ จ.ศรีสะเกษ… “นายนคร บุตรดีวงศ์” พาณิชย์จังหวัดที่นั่น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเจ้าหน้าที่ร่วมบูรณาการตรวจสอบปริมาณสต๊อกปุ๋ยเคมี ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช ของผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ราคาปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการจำหน่ายให้ข้อมูลว่า เกษตรกรมีการซื้อปุ๋ยเคมีน้อยลง ในส่วนของการสั่งซื้อปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืชจากร้านค้าส่ง ยังสามารถสั่งซื้อได้แต่ได้สินค้าน้อยกว่าปริมาณการสั่งซื้อ และปุ๋ยบางสูตรขาดตลาด ซึ่งในสัปดาห์นี้ร้านค้าส่งยังไม่เปิดรับคำสั่งซื้อ และยังไม่พบการกักตุนสินค้า มีการแจ้งราคา ปริมาณ สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีทะเบียนคุมสินค้า พร้อมกำชับกำหนดให้ผู้ประกอบการจำหน่ายปุ๋ยที่เข้าเกณฑ์ ต้องยื่นแบบแจ้งปริมาณสต๊อกเป็นประจำทุกเดือน

@ ทางด้าน จ.สุรินทร์…เตรียมความพร้อมให้เป็นจังหวัดนำร่อง ในการกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic Disease) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่ง “นายเสริมศักดิ์ สีสันต์” รองผู้ว่าราชการจังหวัด เห็นชอบมาตรการเตรียมความพร้อม เป็นจังหวัดนำร่องดังนี้ อัตราผู้ป่วยครองเตียงผู้ป่วยหนักไม่เกินร้อยละ 3 ของผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด, อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 0.5, ประชาชนทั่วไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ไม่น้อยกว่า 70% ประชาชนกลุ่ม 608 ได้รับวัคซีนเข็มแรกไม่น้อยกว่า 80%, ทุกหมู่บ้านมีชุดตรวจ ATK ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของประชากรในหมู่บ้าน, หมู่บ้านมีการปลูกสมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพร้อยละ100, อสม.ต่อประชากรในหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 10 ครัวเรือนต่อ 1 คน, ประชาชนสวมแมสก์ 100%, ดำเนินการ D-M-H-T-T 100%, 100% สถานที่ต้องมีมาตรการ องค์กรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด Covid Free Setting ไม่นำโรคสู่ครอบครัว ไม่นำโรคสู่ชุมชน ไม่นำโรคสู่องค์กรต่อไป

@ ส่วนที่ จ.อุบลราชธานี… “นายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร” สาธารณสุขจังหวัด ยังคงต้องลงพื้นที่ทุกวัน เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ในการเฝ้าดูแลผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น เกือบแตะ 2,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 1-2 รายต่อวันเช่นกัน พร้อมกับได้สนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่างๆ ให้กับ รพ.ทุกแห่ง และเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติ เฝ้าระวัง การพัฒนาคุณภาพ ระบบบริการรับ-ส่งต่อผู้ป่วย จาก รพ. ต่างๆ สู่ รพ.ศูนย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว และปลอดภัยแบบทันท่วงที

@ ที่ จ.อำนาจเจริญ… “นายทวีป บุตรโพธิ์” ผวจ. เดินทางไปร่วมเป็นสักขีพยาน ระหว่างบริษัทประชารัฐรู้รักสามัคคีอำนาจเจริญ ที่ตกลงรับชื้อข้าวหอมมะลิปลอดสาร จากกลุ่มเกษตรกรบ้านเนินกุง ต.นาเวียง อ.เสนางคนิคม แปรรูปบรรจุถุงจำหน่าย ชึ่งเป็นข้าวสารคุณภาพดี ปลูกในดินแดนแห่งตะวันอ้อมข้าว เป็นข้าวหอมมะลิที่หุงแล้วหอม นุ่ม ที่ได้รางวัลระดับชาติ โดยมีนายวินัย มีชัย ประธานบริหารบริษัทประชารัฐ และคณะกรรมการร่วมลงนามสร้างความเชื่อมั่น เพื่อเปิดช่องทางสินค้าเกษตรกร ได้อีกช่องทางหนึ่งต่อไป

@ สำหรับที่ จ.ยโสธร… “นายชัยวัฒน์ แสงศรี” รองผู้ว่าราชการจังหวัด จัด “โครงการเยาวชนศาสนิกสัมพันธ์”
ณ ศาลาริมน้ำชุมชนบ้านซ่งแย้ และศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง สหกรณ์การเกษตรอำเภอกุดชุม ตำบลคำเตย อำเภอไทยเจริญ โดยวัฒนธรรมจังหวัด และผู้นำทางศาสนา ทุกศาสนาบูรณาการทุกภาคส่วน ในการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ กับกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วยเยาวชนนับถือ “ศาสนาพุทธ” และเยาวชนนับถือ “ศาสนาคริสต์” เพื่อเสริมสร้างปลูกฝังให้เด็กเยาวชน และประชาชนมีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม ที่มีค่านิยมที่พึงประสงค์ และมีจิตสำนึกที่ดีงามตามแบบอย่างวัฒนธรรมไทย

@ และที่ จ.ชัยภูมิ…ยินดีด้วยกับ “นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น” ผอ.โรงพยาบาลชัยภูมิ เนื่องในโอกาสได้พิจารณาเข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณ “ค่าของแผ่นดิน” ด้านการส่งเสริมพัฒนาการสาธารณสุข จากสำนักนายกรัฐมนตรี โดย “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ผ่านระบบ on line Zoom Meetings ที่ห้องพญาแล 1 โรงพยาบาลชัยภูมิ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา

บรรยายภาพข่าวสังคม

จ.บุรีรัมย์… “ดร.ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ” กรรมการการเลือกตั้ง และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จ.บุรีรัมย์ เพื่อติดตามรับฟังปัญหาอุปสรรคในการทำงาน และการปฏิบัติหน้าที่ และได้มอบนโยบายการทำงาน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และเป็นขวัญกำลังใจด้วย

จ.สุรินทร์… “น.ส.รวิวรรณ์ ศิริเกษมทรัพย์” ผอ.ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาประชุมสื่อมวลชนที่ห้องประชุม สวท. จ.สุรินทร์ เพื่อเป็นการสร้างพันธมิตรการเตือนภัยการหลอกลวงประชาชนที่มีมากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารร่วมกันช่วยเตือนภัยประชาชนให้ระมัดระวังการถูกหลอกจากกลุ่มมิจฉาชีพมาหลากหลายรูปแบบ

จ.อุบลราชธานี… “นายวิรุจ วิชัยบุญ” รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน เปิดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) หน่วยบริการจังหวัดเคลื่อนที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคำสะอาด ต.ยางใหญ่ อ.น้ำยืน โดยให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตรวจรักษาโรคทั่วไป ทันตกรรม แพทย์แผนไทย ตัดผม พร้อมการให้บริการอื่นๆ จากส่วนราชการหลายหน่วยงาน

จ.นครราชสีมา…วิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานในพิธีรับพระบัญชา สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แต่งตั้ง “พระปลัดเอกรินทร์ ธัมมรังษี” หรือ “พระมหาต่อ” เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส “วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร พระอารามหลวง”

“ประเมธ เพราะพินิจ” หัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ ภาคอีสานตอนล่าง รายงาน