ขณะที่เรื่องการป้องกันผลกระทบทางสังคมในมิติต่าง ๆ อันเนื่องจากอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง…ด้วยการมี “นโยบายส่งเสริมการมีลูก-ส่งเสริมการมีลูกเพิ่ม” สำหรับประเทศไทยมีนักวิชาการชี้ไว้ว่า “ยังไม่สามารถจูงใจได้” อย่างมีนัยสำคัญ ดังที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนไปในตอนที่แล้ว ในขณะเดียวกัน-ในมุมตรงข้าม…ในประเทศไทยก็มี “สถานการณ์เกี่ยวกับการมีลูก” สถานการณ์หนึ่งที่เป็น “อีกปัญหาทางสังคม” แม้ว่าสถานการณ์นี้จะเป็นกรณี “มีเด็กเกิดใหม่” ก็ตาม…

สถานการณ์ที่ว่านี้คือ “ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม”

คือสถานการณ์ “แม่วัยเด็ก-แม่วัยรุ่น” ในไทย

ที่มีข้อมูลว่า “เส้นกราฟสถิติพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ!!”…

รายละเอียดของสถานการณ์ดังกล่าวนี้คือ… มีการพบว่าขณะนี้ แนวโน้มการ “ตั้งครรภ์ขณะที่ยังไม่พร้อม” ของ “กลุ่มหญิงวัยรุ่นไทย” กำลัง “เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ซึ่งสวนทางกับกรณีครอบครัวยุคใหม่ไม่นิยมมีลูก แม้ว่าจะมีความพร้อม จนภาครัฐต้องพยายามออกนโยบายเพื่อจูงใจ โดยในมุมตรงข้าม…กับกรณี “แม่วัยรุ่นตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม” นั้น กรณีดังกล่าวนี้ ทั้ง “ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต” ของแม่วัยรุ่น…ที่จะต้อง สูญเสียโอกาสทางชีวิต” หลาย ๆ อย่าง หลังจากเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และ ส่งผลกระทบต่อเนื่องในเชิงสังคม และระบบเศรษฐกิจ ของประเทศด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ทาง สสส. ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรวจรวบรวมไว้ พบว่า… “ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19” มีหญิงตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมติดต่อขอรับคำปรึกษาทางเลือก เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว” โดยปี 2563 นั้น ในผู้หญิง 1,000 คนที่ตั้งครรภ์ เป็นแม่วัยรุ่น 29 คน ขณะที่ในปี 2564 มีสถิติเดือน พ.ค. พบว่า… มีผู้หญิงโทรศัพท์ขอรับคำปรึกษา สายด่วน 1663 เกี่ยวกับ “ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม” มากถึง 4,461 คนหรือเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 149 คนต่อวันเป็นผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีถึง 26 คน…
นี่เป็นตัวอย่างสถิติตัวเลขที่ฉายภาพสถานการณ์ปี 2564 ซึ่งช่วงที่ “โควิดเดลตาระบาดหนัก” นั้น…กรณี”ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมก็มีสถิติพุ่งสูง” โดยที่ “ส่วนหนึ่งเป็นเด็กวัยรุ่นวัยเรียนวัยศึกษา!!”

นอกจากตัวเลขสถิติที่ต้องสนใจแล้ว สถานการณ์ “แม่วัยรุ่น-ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม” นั้น กับเรื่อง “โอกาสที่หายไปของแม่วัยรุ่น” ก็ยิ่งเป็นประเด็นที่สังคมจำเป็นจะต้องสนใจ-ใส่ใจ โดยกับเรื่องนี้ จิราภรณ์ แผลงประพันธ์ ได้สะท้อนผ่านบทความ โอกาสที่หายไปของ “แม่วัยรุ่น” และประเทศ ที่มีการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ ทีดีอาร์ไอ หลักใหญ่ใจความมีว่า… คำนิยาม “แม่วัยรุ่น” คือ กลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในช่วงอายุ 15-19 ปี ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูล เทียบกับหลายประเทศ…

ประเทศไทยมีอัตราประชากรคุณแม่วัยรุ่นสูง!!…

มีโควิดระบาด…มีการคลอดลูกของแม่วัยรุ่นเพิ่ม!!

“การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ยังถือเป็น “อีกปัญหาสำคัญของประเทศไทย” ซึ่งในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กราฟสถิติแม่วัยรุ่นน่าจะลดต่ำลง…แต่ก็ไม่!! โดยมีแม่วัยรุ่นโทรศัพท์ขอคำปรึกษากับช่องทางต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

สำหรับ “ปัจจัยทำให้มีแม่วัยรุ่นเพิ่มขึ้นช่วงมีโควิดระบาด” นั้น… สาเหตุหลัก ๆ คิดว่าคือ การที่เด็กวัยรุ่นไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การที่เด็กวัยรุ่นอยู่ในโรงเรียนมีส่วนช่วยให้การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลง พอช่วงมีโควิดระบาด โรงเรียนเปิดไม่ได้ ปัญหานี้ก็มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่ การเข้าถึงการคุมกำเนิด การเข้าถึงบริการสาธารณสุข จากสถานการณ์โควิดก็ทำให้เข้าถึงยาก …นี่ก็ยิ่งเป็นการ “ซ้ำเติมปัญหา” ส่วนสถิติตัวเลขอื่น ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ “แม่วัยรุ่น” นั้น พบว่า… แม่วัยรุ่นในประเทศไทยส่วนใหญ่จบการศึกษาสูงสุดระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยอยู่ที่ประมาณ 38% รองลงมาคือประถมศึกษาตอนปลาย 34.5% มัธยมปลาย 21.4% อาชีวศึกษา 20% และระดับปริญญาตรีขึ้นไปแค่ 3.3%

ดูที่รายได้เฉลี่ยของ “แม่วัยรุ่น” จะอยู่ที่ราว 121,867 บาทต่อปี ขณะที่รายได้เฉลี่ยของแม่ที่อายุ 20 ปีขึ้นไปอยู่ที่ราว 159,305 บาทต่อปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ไม่เกิดการตั้งครรภ์ ถ้าเปรียบเทียบกับรายได้คนที่เรียนจบแล้วทำงานนั้น…

“จากที่ศึกษาการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจของการที่เด็ก 1 คนกลายเป็นแม่วัยรุ่น แทนที่จะเรียนจบมาทำงาน เราไปคำนวณรายได้ตลอดช่วงชีวิตของแม่วัยรุ่น เทียบกับเด็กที่เรียนจบมาทำงาน จากการสำรวจพบว่า แม่วัยรุ่นมีรายได้น้อยกว่า แม่วัยรุ่นที่พอท้องแล้วหลุดออกจากระบบการศึกษา ทำให้รายได้หายไป 4,582 บาทต่อเดือน” …นักวิชาการคนเดิมระบุไว้ และว่า…ไม่เพียงแม่วัยรุ่นจะเสียโอกาสด้านรายได้… สถานการณ์แม่วัยรุ่นไทยที่ผ่านมาในช่วงชีวิตยังส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศเป็นมูลค่าถึง 8.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 5.1% ของ GDP และถ้าในอนาคตรายได้ของกลุ่มแม่วัยรุ่นยิ่งแตกต่างมากขึ้น ต้นทุนค่าเสียโอกาสของแม่วัยรุ่นยิ่งมากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศสูงขึ้น

ทั้งนี้ ทางนักวิชาการทีดีอาร์ไอคนเดิมยังได้ชี้ไว้ถึง “มาตรการของรัฐในการลดจำนวนแม่วัยรุ่น” ที่ผ่านมา ซึ่งก็พบว่าแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้ดี แต่เนื่องจาก มีสถานการณ์โควิด-19 ก็น่าจะได้มีการเพิ่มเติมมากกว่าเดิม อย่างเพิ่มเครือข่ายมากขึ้นเรื่องการคุมกำเนิด และ เพิ่มสายด่วนให้คำปรึกษามากขึ้น ประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงน้อง ๆ มากขึ้น เพราะ… ยิ่งช่วงมีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นอยู่อย่างตอนนี้ ยิ่งทำให้อาจไม่สามารถติดต่อหรือเข้ารับบริการได้…

“มีน้อง ๆ ที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรจำนวนไม่น้อย

ที่ไม่รู้ว่าจะปรึกษาใคร??”.