เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีกระแสเกี่ยวกับ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เซ็งแซ่ขึ้นในไทยอย่างน้อยก็ 3 กระแส คือ… กทม. คลายล็อกคุมโควิดอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานต่าง ๆ ได้โดยไม่เกิน 5 ทุ่ม, ศิลปินอินเตอร์เลือดไทยเป็นพรีเซ็นเตอร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลุ้น ครม. ปลดล็อกเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 14.00-17.00 น. …ซึ่งกระแสเหล่านี้ก็ดูจะโยง ๆ “ประเด็นในงานเสวนากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย” ที่มีการจัดไปเมื่อไม่นานมานี้…

“ประเด็น” ในงานเสวนางานดังกล่าวนี้น่าตามดู??…

วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนให้พิจารณา…

ทั้งนี้…เท่าที่เห็นมาในช่วงหลายปี พบว่า…ยิ่งห้ามปัญหาก็ยิ่งเพิ่ม แสดงว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด??…” …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากเสียงสะท้อน จากผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาดังกล่าว ที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้โดย สมาพันธ์พิทักษ์สิทธิ์ด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สสค.)
ด้วยชื่องานเสวนาคือ “ก้าวข้าม 32 : STOP | PAUSE | PLAY FORWARD” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของสังคมที่มีต่อ “พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551” ซึ่งในงานเสวนาดังกล่าวนี้มีการโฟกัส “ประเด็น” ที่ว่า…กฎหมายนั้นไม่ควรจะเป็นการ “บังคับควบคุมอย่างพร่ำเพรื่อเกินไป” และมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ควรเป็นไปแบบ “สร้างสรรค์-สร้างสมดุล” บนหลักการ “เป็นธรรมกับทุกฝ่าย” ซึ่งมีการเสนอว่า…

ไทย “ควรจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย??”

“กฎหมายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับบริบทของโลกในปัจจุบัน ส่งผลให้ฉุดโอกาสทางธุรกิจ…” …เป็นหลักใหญ่ใจความส่วนหนึ่งจากการสะท้อนไว้โดย ประภาวี เหมทัศน์ ผู้ร่วมเวทีเสวนา ซึ่งก็มีการสะท้อนไว้อีกว่า…ส่วนตัวแล้วรู้สึกแปลกใจกับค่านิยมการ “ห้ามแบบพร่ำเพรื่อ” โดยหลายปีที่ผ่านมา จากที่เห็นนั้นพบว่า… “ยิ่งห้ามปัญหาก็ยิ่งเพิ่ม??” ซึ่งแสดงว่าการแก้ปัญหาด้วยแนวคิดนี้ของรัฐนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด?? ขณะที่มีแบบอย่างในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย ประเทศในยุโรป ที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างได้ผล ส่งผลให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์นั้น…

เป็นอีกธุรกิจที่ “กระตุ้นเม็ดเงินให้ระบบเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ ทาง ประภาวี ยังได้สะท้อนไว้ด้วยว่า… การห้ามแบบพร่ำเพรื่อนั้นทำให้กระทบกรณีอุตสาหกรรม “คราฟต์เบียร์” โดยที่คราฟต์เบียร์ฝีมือคนไทยนั้นได้รับการยอมรับ ได้รางวัลมากมายในระดับนานาชาติ ทว่าในประเทศไทยนั้นผู้บริโภคแทบจะไม่รู้จักคราฟต์เบียร์ของคนไทยเลย เนื่องจากสำหรับในประเทศไทยนอกจากจะไม่สามารถผลิตได้แล้ว กับกฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ทำให้ไม่สามารถที่จะทำให้คราฟต์เบียร์เป็นที่รู้จักของคนไทยได้อีกด้วย เนื่องจากมีการตีความโดยใช้ดุลยพินิจว่าเป็นการโฆษณา …เป็นอีกส่วนจากเสียงสะท้อนจากเวทีเสวนาดังที่ระบุข้างต้น…กับอีกหนึ่ง “ประเด็น”

ทางด้านผู้ประกอบการบาร์ ณิกษ์ อนุมานราชธน ได้ร่วมสะท้อนไว้บนเวทีเสวนาเวทีเดียวกันถึงกรณี “สุราพื้นบ้านไทย” โดยระบุไว้ว่า… คือสิ่งที่ต้องรักษา และพัฒนาให้เทียบเท่าประเทศอื่น ๆ แต่กฎหมายที่ไทยใช้อยู่ในขณะนี้ทำให้ความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จนทำให้สุราพื้นบ้านซึ่งเป็น “ภูมิปัญญาของท้องถิ่น” ถูกควบคุมไม่ให้เกิด ไม่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้สวนทางกับหลาย ๆ ประเทศที่มองว่า… สุราพื้นบ้านเป็นของดีประจำชาติ อย่างเช่น สาเกของญี่ปุ่น หรือ โซจูของเกาหลีใต้ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องอยากลิ้มลองรสชาติของเครื่องดื่มท้องถิ่นดังกล่าว

“โดยส่วนตัวมองว่า… รัฐควรเอาเวลาและทรัพยากรไปส่งเสริมและให้ความรู้ให้คนดื่มอย่างพอดี ดื่มอย่างรับผิดชอบ จะดีกว่าที่จะมาใช้วิธีการควบคุมแบบพร่ำเพรื่อ” …เป็นอีกเสียงสะท้อนเชิงวิพากษ์ และเชิงเสนอต่อรัฐ…

เน้นที่เรื่อง “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” คือ “ประเด็น”

ส่วนทางนายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร สง่า เรืองวัฒนกุล ก็สะท้อนไว้ว่า… ขณะนี้ทั่วโลกกำลังแข่งขันกันดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ เพื่อนำรายได้มาฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถ้าไทยยังต้องการรักษาความเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยว ก็จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบบางอย่างเพื่อไม่ให้เป็นการสร้างอุปสรรคให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องเกินสมควร ซึ่งก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 รายได้จากการท่องเที่ยวมีมากกว่า 17% ของ GDP หรือกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยอาหาร เครื่องดื่ม และไนท์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ถือเป็นค่าใช้จ่ายลำดับต้น ๆของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ที่ผ่านมา การ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวม 14 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะช่วง 14.00-17.00 น. นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องห้าม? และเปรียบเทียบไทยกับประเทศอื่น โดยมองว่า ไทยมีมาตรการเข้มข้นเกินพอดี? และมองว่าการห้ามขายเป็นช่วงเวลาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา “ดื่มอย่างเป็นอันตราย” หรือ “การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชน” ดังนั้น ส่วนตัวจึงอยากเสนอว่ารัฐควรพิจารณามาตรการจำกัดเวลาขายให้ยืดหยุ่น ให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน ควบคู่ไปพร้อมกับการ “ลดปัญหาจากการดื่มอย่างเป็นอันตราย” ซึ่งแนวทางนี้ผู้ประกอบการทุกคนยินดีที่จะร่วมมือเต็มที่ …นี่ก็อีก “ประเด็น” ที่มีการสะท้อนไว้ในเวทีเสวนา…ที่ยึดโยงกับบางกระแสที่มีออกมาดังที่ได้ระบุไว้ในตอนต้น ซึ่งก็น่าตามดู…

“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ในไทยก็มีการ “ควบคุม”

ล่าสุดมีกระแส “คลายล็อก-ปลดล็อก” ออกมา…

“เอาเข้าจริงจะอย่างไร?-เช่นไร?” ก็ “รอดูกัน…” .