โดยขณะนี้กระบวนการในรัฐสภากำลังเดินหน้าจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นงานยากเนื่องจากมีร่างหลายฉบับจากหลายพรรคการเมือง และยังมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงมาสนทนากับ “สาธิต ปิตุเตชะรมช.สาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …ผู้รับบทหนักในการทำหน้าที่ครั้งนี้  

โดยประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดฉากยอมรับว่า ด้วยสถานการณ์และเนื้อหาในร่างกฎหมาย ทำให้การทำงานนี้มีแรงกดดันจากทุกด้าน เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดกติกา และต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ขณะที่เนื้อหาในแต่ละร่างจะเป็นเรื่องความเห็นต่างของแต่ละฝ่าย แต่ยังเชื่อว่าถ้าเรายึดถือกลไกในระบบรัฐสภา ก็จะสามารถทำให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างแล้วมาถกเถียงกัน มีการแปรญัตติในความเห็นของตัวเอง พร้อมโน้มน้าวให้กมธ.คนอื่นๆ เห็นด้วยกับเหตุผลนั้นๆ และเมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาร่างกฎหมายในวาระที่ 2  ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ในวาระ 3 ผู้แปรญัตติที่เป็นฝ่ายเสียงข้างน้อยยังสามารถนำเสนอเหตุผลของตัวเองได้  ภาพรวมการทำงานของกมธ.ในตอนนี้ ทุกคนยังให้ความร่วมมือ ผมเป็นแค่คนคัดท้ายให้การพิจารณาและการถกเถียงในการประชุมไม่เกินกรอบอำนาจหน้าที่ของกมธ.

แม้ในกมธ.นี้มีสัดส่วนของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)มากเป็นพิเศษ แต่ถ้าส.ว.มีความคิดที่เป็นอิสระ ไม่ยึดโยงกับฝั่งใดฝั่งหนึ่งที่จะมาล็อบบี้ในการลงมติ ก็จะเกิดการทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายแบบธรรมชาติ โดยนำเนื้อหาของกฎหมายเป็นหลักแล้วปรับให้ตรงกับสถานการณ์การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นและรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ดังนั้น เสียงของส.ว.ในกมธ.จะช่วยทำให้ร่างกฎหมายมีความเห็นของฝ่ายเสียงข้างมากเป็นไปตามหลักการของประเทศ ไม่ใช่เป็นไปตามคำสั่งการของใคร

@ ยังมีบางคนมองว่าการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้จะเอื้อประโยชน์ให้พรรคใหญ่บางพรรค อาทิ พรรคเพื่อไทย

สมมติฐานนั้นมาจากข้อมูลที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ แล้วมาคำนวณฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง ส่วนจะเป็นตามนั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ ต้นทุนเดิม กติกา และความรู้สึกของประชาชนผู้ใช้สิทธิ สมมติว่าต้นทุนเดิมนำไปสู่กติกาที่คาดว่าจะได้เยอะ แต่ความรู้สึกของประชาชนเปลี่ยนไป  ฉากทัศน์ที่คิดกันว่าจะเกิด ก็ไม่น่าจะเป็นไปตามนั้น  แต่คณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้คิดว่าใครจะได้หรือไม่ได้ประโยชน์ เราคิดแค่การทำกติกาให้มีความชัดเจน ประชาชนมีความเข้าใจมากที่สุด เพื่อที่เขาจะสามารถตัดสินใจในการเลือกตั้ง  และเมื่อประชาชนเลือกออกมาเป็นอย่างไร ทุกคนก็ต้องยอมรับตามที่ประชาชนตัดสิน ซึ่งเป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

กังวลหรือไม่ต่อเกมการต่อรองของบางฝ่ายในเรื่องเสียงโหวตร่างกฎหมายลูก กับการที่กมธ.ต้องหาจุดกึ่งกลางในประเด็นที่ฝ่ายต่างๆมีความเห็นแตกต่างกัน

คงไปหยุดการต่อรองไม่ได้  แต่ถ้ามีการต่อรองแล้ว จะเปลี่ยนหลักการของกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย อาทิ มีกมธ.บางคนที่มาจากพรรคเล็ก พยายามโน้มน้าวว่ามีบางหลักการที่แม้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาไปแล้ว แต่ส่งผลต่อพรรคเล็ก จึงอยากให้กมธ.วิสามัญฯ นำกลับมาพิจารณาใหม่ แต่กมธ.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องไปแปรญัตติในฝ่ายเสียงข้างน้อย แล้วนำไปสู่การอภิปรายในการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา วาระ3 ซึ่งเป็นการทำให้เห็นชัดว่าไม่สามารถเอาอำนาจต่อรองมาใช้กับกมธ.เสียงส่วนใหญ่  เรื่องการต่อรองและคำขู่ใดๆไม่ควรเกิดขึ้นในฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ในรัฐสภาควรใช้เหตุผลในการถกเถียงหรือโน้มน้าวให้คนเห็นด้วย

เรื่องการต่อรองอาจมีผลต่อการโหวต เพราะอาจมีบางคนที่อยากให้การลงมติของกมธ.เสียงข้างมากเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ผมอยากให้สื่อมวลชนต้องช่วยกันจับตาดูเรื่องการลงมติในแต่ละประเด็น ว่าถ้าการโหวตรับในสิ่งที่อยู่นอกหลักการ ประชาชนก็จะติดตามได้ว่านั่นเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของใคร แต่ผมในฐานะประธานกมธ. จะไม่ยอมให้มีการพิจารณาในสิ่งที่เกินกรอบหลักการ และจะไม่ยอมให้เสียงส่วนใหญ่ในกมธ.ลงมติในสิ่งที่เกินกรอบหลักการหรือเกินกรอบอำนาจของกมธ. มิฉะนั้นจะถือว่ากมธ.ทำผิดข้อบังคับและอำนาจในการพิจารณา

ขณะนี้ยังมั่นใจอยู่หรือไม่ว่ากมธ.จะสามารถทำงานเสร็จตามกรอบเวลา

กมธ.ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าต้องการทำเรื่องนี้ให้เสร็จโดยเร็ว แต่ตอนนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้น หลังจากนี้จะมีเแรงเสียดทานเข้ามามาก ผมจะไม่ยอมให้ยื้อเวลา จะพยายามทำงานให้เร็วที่สุด แต่จะไม่เร่งรัดจนเกินไป

คิดว่าอะไรที่ทำให้กระแสข่าวที่ว่าจะมีการโหวตคว่ำร่างกฎหมายลูกในวาระ 3 นั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง

คิดว่าเมื่อร่างกฎหมายเหล่านี้ไปสู่การพิจารณาในวาระ 3 แล้วถ้าเสียงส่วนใหญ่ลงมติคว่ำร่าง ผมจะไม่ร่วมลงมติคว่ำด้วย เพราะกมธ.ชุดนี้มาจากการคัดเลือกตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ และจากส.ว. ซึ่งต่างส่งตัวแทนเข้ามาร่วมกันทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่ให้มาลงมติคว่ำร่างกฎหมายนี้ ยกเว้นจะอ้างเหตุผลว่าร่างกฎหมายเหล่านี้กระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือจะสร้างความแตกแยก ซึ่งระบบรัฐสภามีกลไกการแปรญัตติ ถ้ากมธ.เสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยในประเด็นใด ก็ไปอภิปรายกัน แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมายและอยู่ในกรอบกฎหมายที่ยกร่าง  แต่ถ้ามาบอกว่าให้โหวตคว่ำเลย ก็แสดงว่ากลไกที่ผ่านมาไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ แล้วฝ่ายนิติบัญญัติจะอยู่ได้อย่างไร จึงต้องมีเหตุผลเพียงพอในการมาบอกให้โหวตคว่ำร่างกฎหมายดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ก็จะสร้างปัญหาและอุปสรรคอย่างมากแก่รัฐบาล ขณะเดียวกัน กลไกฝ่ายนิติบัญญัติจะยิ่งเสื่อมศรัทธาลงอีก แล้วเราตอบคำถามกับประชาชนอย่างไร จึงได้ไม่คุ้มเสีย เพราะวาระของรัฐบาลก็เหลืออีกไม่นาน ดังนั้นในช่วงเวลาจากนี้ไปควรจะทำแต่สิ่งดีๆ