“ไม่สนใจเรื่องเซ็กซ์เลยไม่เคยมีอารมณ์ทางเพศเลยผิดปกติไหม??” …เป็น “ปุจฉาอื้ออึง!!” ที่มีผู้ตั้งกระทู้ถามไว้ในสังคมโซเชียล แล้วก็ตามมาด้วย “วิสัชนาหลากหลาย!!” ซึ่งกับคำถามนี้นี่ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ค้างคาใจใครหลาย ๆ คน และที่สำคัญ…ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวอาจเกิดความรู้สึกกังวล และทุกข์ใจไม่น้อย จากการที่ไม่กล้านำเรื่องนี้ไปปรึกษาใคร…

อาจจะมีคนที่รู้สึก “วิตกอยู่เงียบ ๆ” กับอาการนี้…

เป็นความผิดปกติที่เข้าข่ายอาการทางจิตหรือไม่??

กับการที่ตนเอง “ไม่สนใจเรื่องเพศสัมพันธ์” เช่นนี้

ทั้งนี้ กับภาวะนี้ ที่บางคนอาจเกิดความรู้สึกแบบที่ “ไม่ฝักใฝ่เพศ-ไม่สนใจเรื่องเซ็กซ์” นั้น นี่จะเข้าข่ายผิดปกติทางจิตหรือทางร่างกายหรือไม่?? เรื่องนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อ จากการเผยแพร่ให้ความรู้ไว้โดย เฟซบุ๊กเพจ “น้องสาว” และ www.littlesiscare.com แพลตฟอร์มให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพเพศหญิง ที่ได้ระบุถึงลักษณะอาการแบบนี้ไว้ว่า…อาจไม่ได้เป็นความผิดปกติ แต่…อาจเข้าข่ายมีรสนิยมทางเพศแบบไม่ฝักใฝ่ หรือที่เรียกว่า “เอเซ็กชวล (Asexual)”

และเกี่ยวกับลักษณะพฤติกรรมมีรสนิยมทางเพศแบบไม่ฝักใฝ่หรือ “เอเซ็กชวล” นี้ ในแหล่งข้อมูลความรู้ดังกล่าวก็ได้อธิบายไว้ว่า…เรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหาที่ติดอยู่ในใจของหลายคน โดยที่ไม่กล้านำไปปรึกษาใคร เพราะกลัวจะโดนตีตราประมาณว่าทำหน้าที่คู่ครองได้ไม่ดี หรือเป็นพวกเซ็กซ์เสื่อม ทำให้เลือกที่จะเก็บความทุกข์เรื่องนี้เอาไว้ในใจคนเดียว อย่างไรก็ตาม คนที่มีภาวะนี้อาจไม่ได้มีความผิดปกติ เพียงแต่อาจจะมี “รสนิยมทางเพศแบบเอเซ็กชวล” ที่ไม่ฝักใฝ่เรื่องทางเพศ

ถามว่า…รสนิยมทางเพศคืออะไร??…ประเด็นนี้ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นได้มีการแจกแจงไว้ว่า…เมื่อพูดถึง “รสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation)” นั้น จะแบ่งเป็น 2 เรื่องใหญ่ คือ…1.เรื่องรัก (Romantic) คือรู้สึกชอบหรือรักใคร ซึ่งเป็นอารมณ์ ความรู้สึก และ 2.เรื่องใคร่ (Erotic) ที่เป็นความรู้สึกใคร่ หรือหื่นกระหาย กับคนที่รักหรือไม่ใช่คนรักก็ได้ โดยตัวอย่างรสนิยมทางเพศที่ยุคนี้พบเห็นกันบ่อย ๆ ในสื่อต่าง ๆ ก็มีทั้ง…ชอบต่างเพศ (Heterosexual) ชอบเพศเดียวกัน (Homosexual) และชอบ 2 เพศ (Bisexual) ซึ่งคำเหล่านี้…มักจะถูกสังคมเหมารวมว่าเป็นทั้งรักและใคร่ตรงกัน

สำหรับกลุ่มคนที่เป็น “เอเซ็กชวล หรือ “ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ” นั้น ข้อมูลในเฟซบุ๊กเพจ “น้องสาว”ระบุไว้ว่า…ถือเป็นกลุ่มที่จะไม่ค่อยปรากฏตัวในพื้นที่สื่อต่าง ๆ มากนัก จึงทำให้สังคมอาจจะไม่รู้ว่า… รสนิยมทางเพศเช่นนี้มีอยู่จริง ๆ ซึ่งจากการสำรวจก็พบว่า… มีผู้หญิงมากถึง 88% ที่ไม่เคยรู้จักรสนิยมทางเพศแบบเอเซ็กชวลมาก่อน และที่สำคัญ หลักสูตรเพศศึกษาในโรงเรียนยังไม่มีการสอนเรื่องนี้ ด้วยเหตุนี้จึงอาจทำให้สังคมไม่เข้าใจผู้ที่มีรสนิยมทางเพศแบบนี้

“เอเซ็กชวล” คือ… “รสนิยมทางเพศแบบรักได้…แต่ไม่ใคร่” หมายถึง… รู้สึกรักชอบได้ แต่ไม่รู้สึกอยากที่จะมีเพศสัมพันธ์ เช่น ผู้หญิงเป็นเอเซ็กชวล อาจมีแฟนเป็นผู้ชาย แต่ไม่มีอารมณ์ทางเพศกับแฟนของตัวเอง เป็นต้น

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามีรสนิยมทางเพศแบบนี้??…

ประเด็นนี้ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นได้อธิบายไว้ว่า…คนที่มีรสนิยมทางเพศแบบนี้ มักมีประวัติไม่ค่อยสนใจเรื่องทางเพศมาตั้งแต่ช่วงเข้าวัยรุ่น จนภายหลังเมื่อมีคู่ครอง…ก็มักจะประสบปัญหา คือ ไม่อยากที่จะมีเซ็กซ์กับคู่ครองของตนเอง ซึ่งในช่วงแรก ๆ นั้นก็อาจจะยังไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่ออยู่ต่อไปนาน ๆ ก็อาจจะ ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวขึ้นได้!! ดังนั้น ทั้งคู่จึงจำเป็นที่จะต้อง “เรียนรู้ทำความเข้าใจ” เกี่ยวกับ “เอเซ็กชวล” รสนิยมทางเพศในลักษณะนี้

ทั้งนี้ ถึงแม้ “ผู้ที่เป็นเอเซ็กชวล” จะมีรสนิยมทางเพศแบบไม่ฝักใฝ่การมีเพศสัมพันธ์ แต่ คนกลุ่มนี้ก็ยังคง “มีการตอบสนองทางร่างกาย” และ “สามารถจะมีเซ็กซ์ได้” โดยในผู้ชาย เมื่อเกิดการตอบสนอง อวัยวะเพศก็จะยังคงมีอาการตื่นตัวได้ หรือเปรียบเทียบได้กับคนที่ “ถึงจะไม่หิว…แต่ก็ยังกินข้าวได้” เพียงแต่อาจจะไม่บ่อยเหมือนกับคนที่ไม่มีภาวะนี้

“ถ้าไม่แน่ใจว่าเป็นเอเซ็กชวลไหม หรือไม่ค่อยแน่ใจว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีรสนิยมแบบนี้หรือเปล่า หรือเป็นเพราะมีปัญหาเรื่องอารมณ์ทางเพศ สิ่งหนึ่งที่แยกง่าย ๆ ก็คือ สังเกตว่าไม่สนใจเรื่องเพศมานานแล้ว หรือเพิ่งจะไม่สนใจ ซึ่งหากเป็นกรณีหลังอาจจะต้องมาประเมินเพิ่มว่า…อารมณ์ทางเพศเปลี่ยนไปเพราะอะไร??” …เป็น “คำแนะนำวิธีสังเกตเบื้องต้น”

เพื่อพิจารณาว่า “เข้าข่ายเป็นเอเซ็กชวลหรือไม่??”

อนึ่ง ในกรณีที่ในคู่ใดพบว่ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด “เป็นเอเซ็กชวล” จะมีคำแนะนำเช่นไรเพื่อปรับตัว?? กรณีนี้ทาง เฟซบุ๊กเพจ “น้องสาว” ก็ได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นไว้ด้วยว่า… เริ่มจาก “ปรับมุมมอง” โดยอย่าคิดว่าเซ็กซ์เป็นกิจกรรมเดียวของชีวิตคู่, “ปรับความเข้าใจเรื่องรสนิยมทางเพศ” ด้วยการไม่กล่าวโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าผิดปกติ และในทางกลับกัน ผู้ที่เป็นเอเซ็กชวลเองก็ไม่ควรกล่าวหาคู่ครองว่าหมกมุ่นกับเรื่องเพศมากเกินไป, “คุยกันเพื่อปรับสมดุล” เช่น สร้างข้อตกลงกันว่าจะมีเซ็กซ์เดือนละกี่ครั้ง ส่วนกรณีที่ปรับกันไม่ได้-ไปกันไม่รอดจริง ๆ… “หาคู่ที่เป็นเอเซ็กชวลเหมือนกัน” คือคำแนะนำ

คำอธิบาย-คำแนะนำเหล่านี้มีประโยชน์…น่าพินิจไว้

เรื่อง รสนิยมทางเพศ” ลึก ๆ มีความหลากหลาย”

การ “เข้าใจ”…รวมถึงเกี่ยวกับ “เอเซ็กชวล” นั้น…

อาจ “สำคัญ” ถึงขั้น “ครอบครัวไม่ล่มสลาย!!”.