ออสการ์ครั้งที่ 94 ประกาศผลไปแล้ว ซึ่งถือว่า “หักปากกาเซียน” ไปอีกปี เพราะตัวเต็งจ๋าที่ว่าน่าจะได้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมคือ power of the dog ซึ่งเป็นหนังอารมณ์แนวๆ หนังคาวบอย จากผู้กำกับหญิง Jane Campion …ความเป็นคาวบอยนี่คือความเป็นอเมริกันจ๋ามาก แม้ว่าเนื้อเรื่องมันไม่ใช่คาวบอยสูตรสำเร็จอย่างเป็นคาวบอยมาสู้คนชั่ว ( ตัวอย่างเช่นเรื่อง shane) แต่มันก็เป็นวิถีอเมริกัน ที่ความเป็นชาตินิยมมักจะช่วยให้หนังเรื่องนั้นชนะ

ลองสังเกตดู ออสการ์จะชอบหนังที่เกี่ยวกับปัญหาในอเมริกา โดยเฉพาะเรื่องสีผิว ลองไล่ๆ ดูในช่วงที่ผ่านมาไม่นานนัก หนังที่พูดถึงปัญหาการเหยียดผิวแล้วได้ออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาแล้วก็เรื่อง driving miss Daisy ( ซึ่งเป็นปีที่งงกันไปหมดว่า ชนะหนังที่คนรักมากๆ อย่าง Born on 4TH July กับ dead poet society ได้อย่างไร )  crash , 12 years a slaves ,  the green book ( ทั้งนี้ เราจะไม่นับ moonlight เป็นหนังเหยียดผิว เพราะเนื้อหาไม่ได้มุ่งทางนั้น แต่เป็นหนังใช้คนดำเดินเรื่อง )  คนดำนั้นเคยถือเป็น “คนชายขอบ”ในสังคมอเมริกัน แต่ปัจจุบันเสียงของคนดำดังขึ้น มีการเรียกร้องให้เคารพคุณค่าของอัตลักษณ์ ถึงขนาดปีไหนที่ออสการ์ไม่มีคนดำเข้าชิงในสายการแสดง มีการประท้วงเป็น white Oscar ( ออสการ์คนขาว )

Oscars: 10 Most Memorable Moments of the 2010s – The Hollywood Reporter

คือมันก็เป็นรางวัลที่มีความเป็นอเมริกันจ๋า ทำให้อะไรๆ ที่เกี่ยวกับอเมริกันสไตล์ ออสการ์จะสนใจมากกว่า แต่สำหรับในด้านการแสดง ถ้านักแสดงคนไหนรับบทราชวงศ์อังกฤษนี่คือเป็นอะไรที่เตรียมจับตาไว้ได้เลยว่า ไม่เข้าชิงก็ได้ดารานำไปเลย อาทิ Helen Mirren จาก the queen ( ที่หน้าตาก็คล้ายพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 แถมก๊อปปี้มากระทั่งท่าเดิน ) Olivia Coleman จาก the favourite รับบทราชินีแอนน์ หรือ Colin Firth รับบทพระเจ้าจอร์จที่ 6 ใน the King speech  ส่วนที่เข้าชิงแต่ไม่ได้ก็ Cate Blanchett จาก Elizabeth รับบทควีนอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งเข้าชิงนำหญิงในภาค 2 ด้วย

พอมายุคหลัง ออสการ์ลดความเป็นอนุรักษ์นิยม ลดวิถีอเมริกันมาเปิดกว้างมากขึ้น อาทิ วิถีอเมริกันซึ่งเป็นชาวคริสต์นี่เขาก็ไม่ค่อยจะยอมรับ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ( LGBT ) ก็มาเปิดรับในช่วงหลังๆ ให้หนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้ อย่าง brokeback mountain ซึ่งเป็นหนังที่เต็งจ๋าว่าจะได้ออสการ์ในปีนั้น แต่ปรากฏว่า crash หนังเกี่ยวกับการเหยียดผิว (ซึ่งเป็นแนวที่อเมริกันชนชอบ ) ปาดหน้าเค้กคว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปได้ ส่วน Ang Lee หรือหลี่อัน ได้รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไว้ปลอบใจ

แล้วในที่สุด เสียงของชาว LGBT ก็ดังขึ้น เมื่อมีหนังเกย์ได้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจนได้คือเรื่อง moonlight ( ซึ่งสร้างนาทีประวัติศาสตร์บนเวทีด้วยเหตุ “จดหมายผิดซอง” คนประกาศดันหยิบซองนำหญิงมาประกาศภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เลยประกาศว่า Lalaland ได้ พอมาแก้ทีหลังมันก็รู้สึกว่า ทีม moonlight โดนขโมยแสงไปแล้ว ) ..อย่างไรก็ตาม บางคนก็ว่า moonlight อาจไม่ใช่หนังเกย์เรื่องแรกที่ได้ออสการ์ น่าจะเป็น midnight cowboy มากกว่า แต่ส่วนตัวดูมาแล้วคิดว่าเรื่องนั้นไม่ใช่หนังเกย์

ออสการ์สุดอื้อฉาว! เกิดอะไรขึ้นในวินาทีช็อกโลก? และทำไมจดหมายจึงผิดซองไปได้?  | THE MOMENTUM

ออสการ์ค่อยๆ เพิ่มความเป็นสากลมาเรื่อยๆ ยอมรับภาพยนตร์เอเชียมากขึ้น มีการให้รางวัลนักแสดงสมทบชาวเอเชียบ้าง อย่างให้ Haing Somnang Ngor ชาวกัมพูชา สมทบชายยอดเยี่ยมปี 1985 จากเรื่อง killing field ( ซึ่งดูไปดูมาแล้วบทดิท ปราน ที่เขารับ มันตัวเดินเรื่องเลยทีเดียว แต่คิดว่าช่วงนั้นดารานำชายเขาคงสงวนไว้ให้ดาราคนขาวมากกว่า ) ให้รางวัลอนิเมชั่นยอดเยี่ยมเรื่อง Spirited away จากค่ายมิยาซากิ แทนอนิเมชั่นของอเมริกา

การยอมรับภาพยนตร์เอเชียยกระดับมากขึ้นไปอีก จากการที่ หนังเกาหลีแท้ๆ 100% ได้ออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2020 ( แม้ว่าอเมริกันชนหลายคนจะไม่ชอบ หาว่าหนังที่ได้ออสการ์ควรจะเป็นหนังพูดภาษาอังกฤษ ) แต่ parasite ครอบครัวปรสิตนี่คือหนังที่เหน็บแนมระบบทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำของคนรวยคนจนที่เป็นปัญหาของเมืองใหญ่แทบจะทั่วโลก meme หนึ่งที่ถูกนำมาใช้บ่อยๆ จากหนังเรื่องนี้ คือฉากที่พระเอกขับรถให้เจ้านายในวันฝนตก ฟากเจ้านายบอกว่า “ฝนตกก็ดีจะ อากาศเย็นหลับสบาย” ขณะที่ตัวชนชั้นล่างในสังคมเกาหลีนั้น พอฝนตกก็บ้านน้ำท่วมต้องไปอยู่ศูนย์พักพิง

พูดง่ายๆคือมันดังเพราะมันเป็นภาษาสากล.. ในอเมริกา ไม่ได้มีแค่คนดำที่ยากจน คนขาวยากจนที่ไม่มีทางทำกิน ทำตัวพึ่งสวัสดิการรัฐ ทำตัวเป็นปัญหาสังคมหรือที่เขาเรียกว่า white trash ก็มีมาก

ต่อมาในปี 2021 การยอมรับเอเชียก็เปิดกว้างมากขึ้น โคลอี้ เจา ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม จาก Nomadland  และยูยอจอง ได้สมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก minari ที่พูดถึงการต่อสู้เพื่อย้ายถิ่นฐานของคนเกาหลีมาแสวงโชคที่อเมริกา โดยเปรียบคนเกาหลีเป็นต้น minari ผักพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่เอาไปปลูกที่ไหนก็ขึ้น เจริญงอกงาม

Nomadland' Wins Best Picture at a Social Distanced Oscars

ที่กล่าวมาทั้งหมดเพื่อจะอธิบายให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่า ออสการ์ปรับเปลี่ยนความอนุรักษ์นิยมมาเปิดรับกับหนังเชื้อชาติอื่น หรือแนวทางที่ไม่ใช่อเมริกันจ๋ามากขึ้น เพื่อให้มันเป็น “รางวัลหนังโลก” มากขึ้น ..น่าจะเป็นเพราะกระแสสตรีมมิ่ง ทำให้ปัจจุบันแต่ละประเทศเผยแพร่หนังของตัวเองได้ง่ายขึ้น  ตลาดไม่ผูกขาดแค่หนังอเมริกัน และหนังอเมริกันนอกจากความหลากหลายเรื่องเชื้อชาติ ก็ให้ความสำคัญกับความหลากหลายในเรื่องอื่นด้วย

หนังที่ชนะตัวเต็ง power of the dog ในปีนี้คือ CODA  หรือ Children of  Deaf  Adults รีเมคมาจากหนังฝรั่งเศสเรื่อง La Famille Bélier ซึ่งเป็นหนังที่เกี่ยวกับคนพิการหูหนวกโดยตรง เป็นเรื่องของครอบครัวหูหนวกที่มีลูกสาวน้ำเสียงไพเราะ ซึ่งเดิมไม่เคยกล้าร้องเพลง แต่ด้วยชายหนุ่มที่เธอแอบชอบ และผู้ใหญ่สนับสนุนให้เข้าโรงเรียนดนตรีที่บอสตัน เรื่องนี้เป็นหนังครอบครัวอบอุ่น ฟีลกู้ด ไม่ใช่แนววิพากษ์สังคมหนักๆ ที่สำคัญพูดถึง “คนชายขอบ” อีกกลุ่มหนึ่งคือคนพิการ ในมิติที่อบอุ่น นุ่มนวลมาก พูดถึงการไขว่คว้าหาความฝันของตัวเอง

ซึ่งถือเป็นมิติที่น่าสนใจ ภาพยนตร์คือ soft power ที่ช่วยสร้างความเข้าใจ การยอมรับในอัตลักษณ์ที่แตกต่างได้ระดับหนึ่ง ทุกวันนี้เราเห็นคนพิการถูกใช้ประทุษวาจา ประเภทด่าเป็นไอ้บอด ไอ้ง่อย ไอ้หนวก หรือ ฯลฯ ซึ่งเรื่องอัตลักษณ์เป็นเรื่องที่ไม่ควรเหยียดกันเพราะเป็นสิ่งที่เกิดมาคู่กับบุคคลและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ..การใช้ภาพยนตร์เป็น soft power ก็เพื่อให้เห็นว่า คนกลุ่มนี้ก็มีการใช้ชีวิตในวิถีของเขาได้ มีอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ต้องการถูกกลั่นแกล้งรังแก มีความดีใจ ภูมิใจเมื่อสามารถทำสิ่งที่ตั้งใจได้บรรลุเป้าหมาย หรือส่งเสริมคนที่รักไปในแนวทางที่ดี

ปีนี้จึงเป็นปีที่ออสการ์เปิดรับอัตลักษณ์ความพิการ หลังจากที่เปิดรับอัตลักษณ์เรื่องสีผิวมาหลายเรื่อง , เรื่องเกย์, เปิดพื้นที่ให้คนเอเชียมากขึ้น ซึ่งมันก็เป็นเรื่องดีถ้าเราจะใช้ภาพยนตร์ที่สื่อถึงการสร้างความเข้าใจที่ดีเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในทุกความต่างได้

Inexcusable'- Will Smith apologises to Chris Rock for Oscars assault

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แย่งซีนที่สุดในงานปีนี้ กลายเป็นกรณีพิพาทระหว่าง Will Smith ผู้ได้ออสการ์นำชายจาก king Richard ที่ขึ้นไปตบหน้า Chris Rock ดาวตลกพิธีกร ฐานที่ Chris ปากเสียแซว Jada Pinkett Smith ว่า “รอดูเธอเล่น G.I.Jane 2” ซึ่งหนังเรื่อง G.I.Jane เป็นหนังที่ เดมี่ มัวร์ เคยเล่น เป็นทหารหญิงที่ต้องโกนหัว ..นั่นคือ Chris แซว Jada ว่าหัวล้าน

ทำให้ Will อดรนทนไม่ได้ปรี่ขึ้นไปตบปาก Chris บนเวทีจนฉาวไปทั่วโลก..Will ต้องการปกป้องภรรยาเพราะ Jada ป่วยด้วยโรค alopecia ( อาการผมร่วงเป็นหย่อมๆ ) และทุกข์ใจกับเรื่องนี้มาก ..ซึ่งในโลกโซเชี่ยลฯ มีทั้งทีม Will และทีม Chris ต่างก็งัดกันมาเถียงว่าใครทำตัวไม่เหมาะสม บ้างก็ว่า Chris ปากแบบนั้นก็ควรโดน แต่ Will ก็ไม่ควรใช้ความรุนแรงในงานใหญ่ระดับโลก และยังมองว่า ถ้ามีการ Bully มาแล้วใช้ความรุนแรงกลับ เรื่องมันก็ไม่จบ ..แต่ก็มองกันอีกว่า คนเป็นเหยื่อต้องอดทนตลอดหรือ ? ถ้าไม่เขกกบาลเตือนกันไปบ้าง ต่อไปก็จะไม่รู้อะไรถูกอะไรควร

โดยเฉพาะ มุขตลกแนว body shaming ( ล้อเรื่องร่างกายให้อับอาย เช่น อ้วน หน้าแบน หน้าเหลี่ยม ) หรือเอาเรื่องโรคที่เขาเป็นมาล้อให้อับอาย มันเป็นสิ่งที่สามัญสำนึกไม่ควรทำ เพียงแค่คิดง่ายๆ ว่า If I were them..ถ้าฉันเป็นคนที่ถูกล้อเลียนล่ะฉันจะเห็นว่ามันขำไหม ..ตลกร้ายดีที่ออสการ์ปีนี้เป็นเรื่องของอัตลักษณ์คนหูหนวก แต่มีวิวาทเพราะดูถูก make fun ( ทำให้เป็นเรื่องตลก ) กับอีกอัตลักษณ์หนึ่ง ( อาการป่วย )

เรื่องที่ Will ทำ เหมาะสมหรือไม่ คิดว่าหลายคนก็คงมีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่อยากตัดสิน.  

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”