ยอมรับ การแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยขณะนี้ ทำให้โปรแกรมการท่องเที่ยวของใครหลายคน ต้องพับเก็บไปก่อน รอให้สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสร้าย มีแนวโน้มดีขึ้น เพื่อกลับไปสู่ภาวะปกติ

สังคมไทยเลยได้ฝากความหวังไว้กับเป้าหมาย การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยวิธีเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนไทยให้ได้ในสัดส่วน 70% ของประชากรทั้งประเทศในสิ้นปี 64  ตามแผนกระทรวงสาธารณสุขที่วางไว้ และถึงแม้ผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว ก็จำเป็นต้องดูแลตนเองตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

ดังนั้นหากให้ประเมิน “การท่องเที่ยวของไทย” ปี 64 ต้องยอมรับ ยังคงเผชิญกับความยากลำบากที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว แม้รัฐบาลจะสามารถเปิด โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ไปได้ และกำลังจะตามมาในอีกหลายจังหวัด ที่มีความพร้อมและปลอดภัยมากเพียงพอ

จึงทำให้หลายฝ่ายพอจะมีความหวังว่าในไตรมาส 4 ปีนี้ การท่องเที่ยวของไทยคงมี แนวโน้มดีขึ้นบ้าง ในบางพื้นที่  ซึ่งอยู่บนข้อแม้ว่า แผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาล ต้องประสบความสำเร็จ ตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากการ ประกาศล็อกดาวน์ พื้นที่ เพื่อเร่งจำกัดวงจรการแพร่ระบาดให้หมดไปโดยเร็ว

ซึ่งผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้าย ทำให้พฤติกรรมการเดินทางและ การเลือกแหล่งท่องเที่ยว ของนักท่องเที่ยวจะต้องปรับเปลี่ยนไป องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้นำ องค์ความรู้เรื่องการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) มาใช้เป็นคู่มือในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม

ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อกำหนดทิศทาง การพัฒนาท่องเที่ยว สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนแต่ยังคงอัตลักษณ์และวิถีดั้งเดิมเอาไว้ หากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ความพร้อมเหล่านี้ จะเป็นเครื่องจักรสำคัญ ในการช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนซึ่งถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญ

ที่น่าชื่นชมคือ ผลสำเร็จความทุ่มเท พัฒนาของ อพท. ช่วยสร้างความหวังให้กับการท่องเที่ยวของไทย คือเมืองที่ อพท. เข้าไปผลักดันด้วยการพัฒนาและยกระดับ นั่นคือ “จังหวัดเชียงราย” และ “จังหวัดเพชรบุรี” ได้รับเลือกจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกประเทศไทย

ให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าชิงเครือข่าย เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network-UCCN) ประจำปี พ.ศ. 2564  ซึ่งทางคณะกรรมการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลกของยูเนสโก  มีกำหนดการตัดสินและประกาศผลผู้ได้รับเลือกภายใน ปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งทั้ง 2 จังหวัด นับเป็นตัวแทนของประเทศไทย เข้าชิงในหมวดหมู่สำคัญ

จังหวัดเชียงราย เสนอเป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านการออกแบบ (City of Design) และ จังหวัดเพชรบุรี เสนอเป็น เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (City of Gastronomy) โดยดูจากความโดดเด่น และประโยชน์ที่คนในพื้นที่และชุมชนจะได้รับ ซึ่งเป้าประสงค์ของการสร้างเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกนั้น ต้องการส่งเสริม ให้เกิดความร่วมมือ ระหว่างประเทศในชุมชนท้องถิ่น

โดยได้เปิดโอกาสให้มีการเสนอความหลากหลาย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของ ชุมชนท้องถิ่น ใน 7 สาขา ได้แก่ หัตถกรรมพื้นบ้าน การออกแบบ ภาพยนตร์ อาหาร วรรณกรรม สื่อศิลปะ และดนตรี โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับ ด้านวัฒนธรรม และ ความคิดสร้างสรรค์ ตามเป้าหมายวาระของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2030

ก่อนหน้านี้ อพท. ได้ผลักดัน จังหวัดสุโขทัย เข้าเป็น เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้าน Craft and Folk Arts : 2019 ของ
ยูเนสโกมาแล้วเมื่อปี 2562 ขณะที่ประเทศไทย มีเมืองที่ได้รับเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์อยู่แล้ว 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต (Gastonomy : 2015) จังหวัดเชียงใหม่ (Craft and Folk Arts : 2017) และ กรุงเทพฯ (Design : 2019)

สามเดือนนับจากนี้ เรามาร่วมลุ้นไปพร้อม ๆ กัน  กับข่าวดีของประเทศไทย หวังได้รับเลือกให้เป็น เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก ของยูเนสโก แต่ระหว่างการรอคอยก็ขอให้ทุกคนตั้งการ์ดให้สูง เพื่อรอวัน พลิกฟื้นของประเทศไทย ไปพร้อมกัน.

เขื่อนขันธ์