‘ทีมการเมืองเดลินิวส์’ จึงมาสนทนากับ ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ผู้สมัครฯ ผู้ว่า กทม. เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล  ถึงวิสัยทัศน์ และยุทธวิธีในการหาเสียง จะมีทีเด็ดอย่างไรเพื่อพิชิตใจคนกทม.ในสนามเลือกพ่อเมืองครั้งนี้

โดย ‘วิโรจน์’ เปิดฉากกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ส่วนใหญ่ประชาชนตอบรับดี ประชาชนได้เล่าถึงปัญหาที่ประสบอยากให้ผู้ว่าฯ แก้ปัญหานั้นแก้ปัญหานี้ ทำให้กลับมาคิดว่าถ้าเกิดระบบการทำงานยังเป็นแบบนี้ ที่ประชาชนต้องมาฝากปัญหากับผู้ว่าฯ กทม.มีประชากร 2.4 แสนครัวเรือน ถ้าผู้ว่าฯ ต้องมารับฝากปัญหาทั้งหมดโดยที่ไม่ได้วางระบบในการทำงานใหม่ ปัญหาคุณภาพชีวิตของคน กทม.ก็แก้ไม่ได้ แสดงว่าปัญหาอยู่ที่รากอยูที่ระบบ พอเราเจาะ พอเราคุยปัญหาที่เจอก็ไม่ได้เป็นปัญหาที่ซับซ้อนอะไรเลย แต่เป็นปัญหาเรื่องของการจัดการขยะ ทางเท้า ไซต์ก่อสร้าง ถนนที่สร้างไม่เสร็จ ผู้รับเหมาไม่ยอมมาทำให้เสร็จ เป็นต้น ทั้งที่ปัญหาเหล่านี้เป็นหน้าที่ ๆ ต้องทำให้ดีอยู่แล้ว ไม่ควรต้องเป็นนโยบายที่เอามาประกวดกัน นี่แสดงว่าเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านสิ้นหวัง และรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ถูกปกครอง แทนที่ตัวเองจะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของเมือง

คิดว่านโยบายอะไรของพรรคที่จะครองใจคน กทม. ได้

ผมคิดว่าน่าจะเป็น 2 เรื่อง หลัก คือ 1.การเอาเงินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คาดว่าจะเก็บได้ประมาณ 1 หมื่นล้าน มาสมทบเพิ่มเติมให้กับสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับคนละ 600 บาท ผันแปรไปตามช่วงอายุ เราก็จะสมทบให้ประชาชนได้รับคนละ 1,000 บาท ส่วนเด็กแรกเกิด-6 ขวบ ซึ่งวันนี้มีแต่ครอบครัวยากจนเท่านั้น ที่ได้ 600 บาท หลายครอบครัวก็ไม่ได้ เราก็จะเพิ่มเติมและทำให้เด็กทุก ๆ คน แรกเกิด-6 ขวบ ได้ที่ 1,200 บาท ผู้พิการที่ส่วนใหญ่ได้ที่ 800 บาท เราก็จะพยายามเพิ่มเติมให้เป็น 1,200 บาททุกคน

2.การดึงเอางบส่วนกลาง ที่อยู่ในสำนัก อยู่ในเขต อยู่ในงบกลางผู้ว่าฯ ออกมากระจายให้เป็นงบที่ประชาชนเลือกเองได้ 4,000 ล้านบาท คือเราจะลงในชุมชน 2,000 ชุมชน ชุมชนละประมาณ 5 แสน-1 ล้านบาท และในส่วนคนที่ไม่ได้อยู่ชุมชนทั้ง 50 เขตอีก 2,400 ล้านบาท ทั้ง 2 นโยบายนี้มีความสำคัญที่จะเป็นการจัดสวัสดิการให้ประชาชน เป้าหมายสูงสุดของเราคือพยายามทำให้ทุกคนมีรายได้ เพื่อคืนกำลังซื้อให้กับคน กทม. ไม่ใช่แค่การกระจายเงิน แต่เป็นการทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น ปัญหาที่เขาเคยเห็นมาตั้งแต่ชั่วนาตาปี ก็จะได้ไม่ต้องมาฝากผู้ว่าฯ แล้วมันเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน เพราะคนที่มีอำนาจคือคนที่มีเงิน ถ้าคุณคืนเงินให้กับเขาประชาชนก็จะรู้สึกมีอำนาจ และสามารถแก้ปัญหาให้ตัวเองได้ และรู้สึกว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่มีความหวัง ไม่ใช่ผู้เช่า ผู้อาศัยอยู่ 2 นโยบายนี้เป็นแกนหลัก ที่เราพยายามจะนำเสนอให้กับประชาชน

@มีคนมองว่า ผู้สมัครฯ จากพรรคฝ่ายค้าน ที่เป็นพันธมิตรกันมาลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะมาตัดคะแนนกันเอง

ผมมองต่างกัน ประชาธิปไตยคือสิ่งที่คนเราต้องเลือกในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ส่วนระบบเผด็จการคือไม่มีตัวเลือก มีคนเลือกให้ ดังนั้นดีกรีของความเป็นประชาธิปไตยคือจำนวนตัวเลือกที่มากขึ้น ประชาชนต้องมีสิทธิเลือก เรื่องนี้มันสะท้อนถึงความสิ้นหวังของประเทศว่าถึงขั้นต้องมานั่งตัดคะแนนกัน ถ้าประเทศเราเป็นประชาธิปไตยจริงๆ จะไม่มีการพูดถึงการตัดคะแนนกัน ทุกคนมีสิทธิเลือกในสิ่งที่ตอบโจทย์ตัวเอง คุณไม่ต้องเลือกเพราะความกลัว อีกอย่างฝ่ายที่อ้างตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยต้องมานั่งฮั้วกัน อันนี้ก็ขัดอุดมการณ์ประชาธิปไตยแล้ว ถ้าต้องมานั่งฮั้วกัน ก็ไม่ต้องเรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตยแล้ว เหมือนการฮั้วประมูล คุณอย่าลงแล้วให้ผมลงแทน

ถ้าเกิดผมได้แทนที่ผมต้องไปทำตามคำมั่นสัญญาที่ผมให้ไว้กับประชาชน หรือผมต้องไปทำตามคำสัญญาหรือเป็นบุญคุณกับคนที่ถอนตัว มันไม่ใช่ เรื่องที่บอกว่าจะตัดคะแนนกัน ผมว่าตอนนี้จบแล้ว ประชาชนไม่คิดแล้ว ทุกคนก็มีสิทธิที่จะเลือกบุคคลที่เขาต้องการ แล้วคำถามคือมันมีศักดิ์ศรีไหม สมมุติผมพูดง่าย ๆ มีใครคนหนึ่งที่ผมไม่เอ่ยชื่อ บอกคุณอย่าลงเลย คุณเทคะแนนให้ผม ก็ต้องตั้งคำถามว่าจะยังมีศักดิ์ศรีหรือ ไม่มีหรอก ถ้าเกิดคุณชนะก็ต้องชนะด้วยนโยบายและความตั้งใจของคุณ ไม่ใช่ชนะเพราะคนอื่นถอนตัวแล้วโยนคะแนนให้คุณ นี่ไม่ใช่ชัยชนะ แต่ผมคิดว่ามันคือการหลอกลวงประชาชน

@ที่ผ่านมาทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาได้อย่างโดดเด่น เป็นกำลังหลักของพรรคก้าวไกลในสภา การลงสมัครผู้ว่าฯ หากแพ้เลือกตั้งจะเป็นการเสียของและเหนื่อยฟรีหรือไม่

จริงๆ แล้ว สิ่งที่เราทำเสร็จแล้ว คือการปักธงทางความคิด ทำให้ประชาชนรู้แล้วว่าเงื่อนไข กติกาที่มันไม่เป็นธรรม ที่เอื้อประโยชน์ให้กับอภิสิทธิ์ชนใน กทม.  จริง ๆ ไม่ใช่แค่ใน กทม. แต่เป็นทั้งประเทศ การจัดสรรงบประมาณที่เอางบไปประเคนให้กับนายทุนผู้รับเหมาขนาดใหญ่ ผมคิดว่ามันคือการปักธงทางความคิด ถ้าเราไม่แก้ปัญหาที่รากและใจกลางของปัญหาก็แก้ปัญหาเมืองไม่ได้ แค่นี้ก็คุ้มแล้ว

ถามว่า “วิโรจน์”อยากเป็น ส.ส.ไหม จริงๆ แล้ว “วิโรจน์” อยากมาแก้ปัญหาให้กับเมืองให้กับประเทศมาก ถามว่าบทบาทที่ผ่านมาคนชื่นชมวิโรจน์จากอะไร ก็ไม่ได้ชื่นชมที่ “วิโรจน์” เป็น ส.ส. แต่เพราะความตรงไปตรงมา และกล้ายืนเคียงข้างกับประชาชน กล้ายืนหยัดกับความถูกต้อง และปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ หลายคนก็มองว่าทำงานคุ้มกับการเป็น ส.ส. คุ้มกับการเป็นตัวแทนของประชาชนจริง ๆ ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญ ในตำแหน่งผู้ว่าฯ ที่มีงบประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี ถ้ารวมกับงบที่รัฐบาลสมทบอีก 2 หมื่นล้านบาท

“ผมคิดว่านี่คือช่วงเวลาที่ควรจะต้องแผ้วถางและวางโครงสร้างใหม่ให้กับ กทม. ผมจึงย้ำเสมอว่าสิ่งที่ทำให้ผมอยากเป็นผู้ว่าฯ กทม. เพราะผมอยากเห็น กทม. เมื่อผ่านยุคของผม 4 ปีไปแล้ว กทม.ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล กทม.จะได้เผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ไม่ต้องอยู่ในวังวนปัญหาเดิม นี่คือสิ่งที่ “วิโรจน์” อยากให้เป็น ไม่เช่นนั้น คุณก็บริหารภายใต้ข้อเว้นวรรค บริหารภายใต้การยกเว้น และนับวันจะยกเว้นเพิ่มขึ้น เพราะเครือข่ายอุปถัมภ์ ส่วนความเหลื่อมล้ำและข้อยกเว้นก็เพิ่มขึ้น การบริหารโดยผู้ว่าฯ ที่สมองดีแต่น้ำท่วมปากมันแก้ปัญหาให้กับเมืองไม่ได้”