เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 65 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงการพิจารณาลงโทษข้าราชการที่กระทำผิดวินัย มีพฤติการณ์ที่เสื่อมเสีย ทำให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่า วันนี้คณะอนุกรรมการสามัญประจำกรมราชทัณฑ์ (อ.ก.พ.) นัดประชุมครั้งที่ 4/2565 โดยที่ประชุมมีมติลงโทษข้าราชการที่กระทำผิดวินัย จำนวนทั้งสิ้น 7 ราย ประกอบด้วย ไล่ออกจากราชการ 5 ราย แยกเป็นกรณีทุจริตต่อหน้าที่ เรียกรับประโยชน์จากผู้ต้องขังหรือญาติผู้ต้องขัง โดยมีพฤติการณ์เรียกติดต่อญาติ เรียกรับเงินจากญาติผู้ต้องขังเพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกในเรือนจำ 1 ราย, นำสิ่งของที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ 1 ราย, ทุจริตเงินร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว 1 ราย และนำยาเส้นเข้าไปให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ 1 ราย และกรณีขาดราชการติดต่อกันเกิน 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีมติปลดออกจากราชการ 2 ราย กรณีขาดราชการติดต่อกันเกิน 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร

นายอายุตม์ กล่าวอีกว่า ตนได้เน้นย้ำให้ข้าราชการในสังกัดปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ ซื่อสัตย์สุจริต พร้อมรับการตรวจสอบ ปฏิบัติตนตามมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และย้ำว่ากรมราชทัณฑ์จะไม่ปล่อยปละละเลยผู้กระทำผิด มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการทุจริตในงานราชทัณฑ์ทุกมิติ ซึ่งผู้ที่กระทำผิด หรือเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังจะถูกลงโทษขั้นเด็ดขาด ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ได้เปิดช่องทางการรับเรื่องราวร้องทุกข์ถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้โดยตรง หากผู้ใดพบเห็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กระทำผิด สามารถส่งหลักฐานได้โดยตรงถึงผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ผ่านช่องทาง QR Code :DocAni-Corruptiom เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ข้าราชการรายอื่นต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ถูกไล่ออก กรณีมีพฤติการณ์ติดต่อญาติ เรียกรับเงินจากเพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องขังในเรือนจำนั้น เป็นกรณีที่ผู้เสียหายร้องเรียนต่อกระทรวงยุติธรรมว่า ถูกผู้คุมทัณฑสถานหญิงธนบุรีรายดังกล่าว เรียกรับเงินครั้งละ 300-1,000 บาท จำนวน 9 ครั้ง เป็นจำนวน 6,200 บาท อ้างว่าเป็นค่าดูแลแม่ที่เป็นผู้ต้องขังในทัณฑสถานหญิงธนบุรี โดยก่อนหน้านี้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และตั้งกรรมการสอบวินัย กระทั่งคณะกรรมการ อ.ก.พ.มีมติให้ไล่ออกดังกล่าว