เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้ประชุมเชิงปฏิบัติการการใช้งานระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในเรื่องการเติมความรู้และทักษะให้กับเด็กในภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) พร้อมกับการพัฒนานักเรียนตามความถนัดเพื่อจะได้เรียนอย่างมีความสุขและตรงตามศักยภาพตามข้อสั่งการของนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ซึ่งการพัฒนาผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องคำนึงถึงพระบรมราโชบายด้านการศึกษา 4 ประการ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รวมถึงทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมทั้งตัวชี้วัดคุณภาพผู้เรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยสำหรับเป้าหมายในการสำรวจแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการคัดกรอง วิเคราะห์ และวินิจฉัยผู้เรียนรายบุคคล ทำให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และผู้ที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษา ได้ทราบถึงแววความสามารถพิเศษของนักเรียนในแต่ละด้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับนักเรียนรายบุคคล โดยประกอบด้วยแบบสำรวจแววความสามารถพิเศษขั้นต้น และแบบสำรวจแววความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน ใน 8 ด้าน ได้แก่ ด้านภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เครื่องกลและอิเล็กทรอนิกส์ ศิลปะ/มิติสัมพันธ์ การได้ยิน การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ และด้านสังคมและอารมณ์

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อมูลในการคัดกรอง นอกจากนำมาใช้ในการออกแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดคุณภาพกับผู้เรียนแล้ว ยังถือเป็นการเติมเต็มและดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาเป็นรายบุคคลตามความถนัดของตัวเอง ซึ่งนักเรียนทุกคนมีความแตกต่างหลากหลายกัน ต่างคนก็มีศักยภาพที่สามารถพัฒนาได้ ดังนั้นการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลจึงจะสามารถส่งเสริมและพัฒนานักเรียนได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ด้วยกระบวนการของระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษฯ เราสามารถนำผลจากการสำรวจไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครูและการสนับสนุนการบริหารจัดการศึกษาได้ ทั้งในระดับโรงเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยคุณครูนำผลไปใช้วางแผนการจัดการเรียนรู้รายบุคคลและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ โรงเรียนนำไปใช้วางแผนพัฒนาคุณภาพผู้เรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานำไปใช้ขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาระดับเขต และ สพฐ. นำไปใช้เป็นข้อมูลภาพรวมของประเทศในการกำหนดนโยบายทางการศึกษา 

“จะเห็นได้ว่าระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีเป้าหมายเพื่อคัดกรองผู้เรียนที่มีแววความสามารถพิเศษและใช้ผลการคัดกรองพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม โดยผลที่ได้นั้น ไม่ได้นำไปใช้ในการตัดสินผลหรือการจัดลำดับผู้เรียนแต่อย่างใด ซึ่งจะเริ่มดำเนินการร่วมกันในทุกพื้นที่ของประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ในโอกาสนี้ ต้องขอบคุณฝ่ายสนับสนุนทุกคนที่ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะคุณครูที่อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษา ที่เป็นฝ่ายสนับสนุนทำให้สามารถนำข้อมูลในการคัดกรองไปใช้ประโยชน์พัฒนาต่อยอดลงสู่นักเรียนได้อย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว