เมื่อวันที่ 12 พ.ค. สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีการจัดเสวนาออนไลน์ เรื่อง “ควบคุมปัจจัยเสี่ยงในช่วงเทศกาลบุญบั้งไฟ 2565” โดยนายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนนโยบายสาธารณะ สคล. กล่าวว่าหลังเกิดโควิด-19 ระบาด 2 ปี งดการจัดประเพณีบุญบั้งไฟ แต่ปีนี้มีการอนุมัติให้จัดได้ในเดือน พ.ค. ซึ่งหลายพื้นที่เริ่มจัดอย่างยิ่งใหญ่ มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เล่นพนันเช่นเดิม ทั้งนี้มีงานวิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนหน้านี้ พบเงินสะพัดกว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่ตอนนี้ไปไกลกว่านั้นคือ มีการพนันออนไลน์ มีธุรกิจแอลกอฮอล์ไปส่งเสริมการขาย พบการดื่มในขบวนแห่แม้ว่าจะมีกฎหมายห้าม แต่กลไกบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ทำหน้าที่

ที่ผ่านมาภาคประชาชน ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มีความพยายามรณรงค์ลด ละ เลิกการพนันบั้งไฟ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่รณรงค์อย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ อิทธิพลในพื้นที่ มีนายอำเภอบางอำเภอ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องถูกย้ายออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตามภาคประชาชนยังมีความพยายามในการรณรงค์ต่อไปหลายพื้นที่มีความก้าวหน้า มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ทำกติกาชุมชน เช่น จ.ศรีสะเกษ มีการยกระดับสู่กลไก พชอ. มีการ MOU 22 อำเภอ ทำบั้งไฟปลอดโควิด ปลอดเหล้า ปลอดการพนัน ในขณะที่พื้นที่จัดงานขนาดใหญ่ทั่วภาคอีสาน มีการขับเคลื่อนไปแล้วกว่า 36 พื้นที่ แต่เทียบสัดส่วนแล้วยังถือว่าน้อย

“ในภาพรวมเราเห็นว่างานเปลี่ยนได้เพื่อให้เกิดความปลอดภัย คือเน้นคุณค่าความหมายของงานประเพณี กำหนดขนาดบั้งไฟไม่ให้ใหญ่เกินไป ทำฐานจุดปลอดภัยกำหนดพื้นที่เขตปลอดภัย ติดร่มชูชีพที่บั้งไฟ ทำประกันอัคคีภัย กำหนดเขตห้ามดื่ม ห้ามขายเหล้า และเพื่อไม่ให้มีการเล่นพนันต้องมีนโยบายไม่ขานเวลา ไม่ขานคะแนน ให้ตำรวจดูแลเข้มข้น ที่สำคัญคือต้องมีนโยบายที่เข้มแข็ง แต่ที่ผ่านมาตีบตันที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลายจังหวัดนับตั้งแต่มี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 ผ่านมา 10 ปี แต่กลับประชุมแค่ครั้งเดียว ทำให้นโยบายที่เข้มแข็งไม่สามารถทำต่อได้ ดังนั้นต้องมีมาตรการเชิงรุกจัดการความเสี่ยง รณรงค์สื่อสารต่อเนื่อง ดึงชุมชนมามีส่วนร่วม ทำวัฒนธรรมร่วมสมัย และเรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่ปล่อยให้ภาคประชาชนต้องโดดเดี่ยว” นายวิษณุ กล่าว

ทางด้านนายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันหลายพื้นที่มีการจุดบั้งไฟเช่นกัน แต่เป็นไปตามวัฒนธรรม ในขณะที่คนอีสานแท้ๆ กลับมีการเล่นการพนัน ลดคุณค่างานประเพณี เกิดการทะเลาวิวาท จากการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ตนกังวลว่วาหลังการระบาดโควิด ปัญหาการพนันบั้งไฟจะหลับมาใหม่ รุนแรงขึ้น จึงต้องเฝ้าวังและสกัดปัญหาอย่างเข้มข้น ต้องคิดถึงความปลอดภัยในการเดินทางทางอากาศ โดยกำหนดมาตรฐานการผลิตบั้งไฟจุดขึ้นสูงไม่เกิน 30 เมตร กำกับติดตามให้การจุดบั้งไฟเป็นไปตามประเพณีอย่างแท้จริง เพราะส่วนตัวอยากให้ประเพณีที่งดงามนี้อยู่ไปนานๆ

ส่วนนายปรีชา แสนรัตน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่าที่ร้อยเอ็ดขณะนี้น่ากังวลมาก เนื่องจากผู้มีอำนาจ ปล่อยทุกอย่าง อนุญาตให้มีทั้งรถแห่ คอนเสิร์ต หมอลำ ฟรีสไตล์ ดื่มเหล้า หากอำเภอไหนไม่อนุญาตจัด หรือมีการคุมเข้มจะถูกประท้วง กดดัน ดังนั้นกว่า 90% ของการจัดประเพณีบั้งไฟมีความเกี่ยวข้องกับอิทธิพล ผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งตนเห็นและต่อสู้มาตลอดพบว่ามีกระบวนการล็อบบี้ผู้มีอำนาจ จัดประชาคมเพื่อผลักดันให้จัดประเพณีให้ได้ สนับสนุนเงินทำกิจกรรมรถแห่ วงดนตรี จัดเตรียมพื้นที่ ทำให้มีเงินสะพัดจำนวนมหาศาล มีบ่อนวิ่ง บ่อนลอย มีการดื่มกิน โดยเฉพาะปีนี้มี การเล่นโคลนโดยไม่สนหน้ากากอนามัย ทำให้ในหลายพื้นที่พบการติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น

ขณะที่ นายบำรุง เป็นสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนล่าง กล่าวว่าประเพณีบุญบั้งไฟในระยะหลังมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกิดความรุนแรงและอุบัติเหตุ ซึ่งจากข้อมูล แค่ช่วง 1 เดือนที่มีประเพณีพบอุบัติเหตุจำนวนมากกว่าเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์รวมกัน นอกจากนี้ ทำให้เกิดการแข่งขัน เกิดค่าย หรือวิสาหกิจชุมชนผลิตบั้งไฟแข้งกันและนำไปสู่การเล่นพนัน ทั้งหมดเป็นการลดแก่นแท้ของประเพณีที่ต้องการให้คนในชุมชนเกิดความรัก สามัคคี และสร้างขวัญกำลังใจเพื่อผ่านปัญหาฝนแล้ง เป็นต้น ดังนั้นต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง โดยผลักดันให้มีการจำกัดเวลาจัดประเพณีไม่นาน ลดขนาดบั้งไฟ ไม่ให้มีการจับเวลา และประกาศเวลา เชื่อว่าเมื่อประเพณีที่มีความปลอดภัย จะส่งเสริมให้คนมาท่องเที่ยวมากขึ้นและยั่งยืน.