การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน เตรียมกลับไปใช้รูปแบบแข่งขันเดิม ที่ไม่มีเจ้าภาพ เล่นเหย้า-เยือน โดย “ช้างศึก” ทีมชาติไทย ในฐานะแชมป์เก่า จะถูกจับแยกกลุ่มกับ “ดาวทอง” เวียดนาม คู่รักวงการลูกหนังอาเซียน

หลังจบศึกเอเชียนคัพ รอบคัดเลือก 2023 ที่ประเทศอุซเบกิสถาน แล้ว สำหรับ “ช้างศึก” ทีมชาติไทย นอกจากเกมอุ่นเครื่อง ก็จะมีรายการสำคัญรออยู่ในช่วงปลายปี คือฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน ครั้งที่ 14 ชื่อเดิมคือ “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ” แต่เปลี่ยนชื่อตามผู้สนับสนุนใหม่ “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ”

การแข่งขันครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเลื่อนจากปี 2020 มาเป็น 2021 และทีมชาติไทย คว้าแชมป์มาครองนั้น ต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัด มาเป็นเจ้าภาพชาติเดียว คือที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด อย่างไรก็ตามในการจัดปลายปี 2022 จะกลับไปใช้รูปแบบเดิม เตะเหย้า-เยือน โดย “พ่อบ้านโจ” นายพาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ “กีฬาเดลินิวส์” ว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่คลี่คลาย อย่างในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม ก็ให้แฟนบอลเข้าชมได้เต็มที่แล้ว สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (เอเอฟเอฟ) จึงจะกลับไปใช้รูปแบบเดิม ไม่มีเจ้าภาพ เล่นแบบเหย้าเยือน รอบแรกแบ่ง 2 กลุ่ม กลุ่มละ 5 ทีม แต่ละทีมจะต้องเป็นทีมเยือน 2 แมตช์ และทีมเหย้า 2 แมตช์ ส่วนรอบรองชนะเลิศ กับ รอบชิงชนะเลิศ จะเตะแบบเหย้า-เยือน รอบละ 2 แมตช์

“ถ้าไม่มีอะไรรุนแรง สถานการณ์เลวร้าย เอเอฟเอฟ วางแผนไว้ว่าจะกลับไปจัดรูปแบบเดิม คือ เหย้า-เยือน ไม่มีเจ้าภาพ ซึ่งการจัดลักษณะนี้ ได้รับเสียงตอบรับ ความนิยมที่ดีจากแฟนบอล การแข่งขันสนุกเร้าใจ เพราะทุกแมตช์จะมี 1 ทีมที่เป็นเจ้าบ้าน รวมทั้งเพิ่มมูลค่าด้วย”

ส่วนระยะเวลาการแข่งขันนั้น นายพาทิศ กล่าวว่า เบื้องต้น เอเอฟเอฟ วางไว้ว่าจะแข่งหลังจากฟุตบอลโลก 2022 จบแล้ว คือเริ่มราวๆ วันที่ 20 ธ.ค. และไปจบวันที่ 16 ม.ค.ปีหน้า ทัวร์นาเมนต์จะนานเพราะต้องเดินทางข้ามประเทศ ส่วนการจับสลากแบ่งกลุ่ม จะมีในเดือน ส.ค. มาจัดที่ประเทศไทย ซึ่ง เอเอฟเอฟ ให้เกียรติในฐานะเป็นแชมป์เก่า กำหนดทีมวางดูผลงานจากการแข่งขัน 3 ครั้งหลังสุด ดังนั้น ไทย แชมป์ปี 2016, 2020 กับ เวียดนาม แชมป์ปี 2018 จะแยกกันเป็นทีมวางของแต่ละกลุ่ม

สำหรับศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน ไทย เป็นแชมป์มากสุด 6 สมัย ตามด้วย สิงคโปร์ 4 สมัย, เวียดนาม 2 สมัย และ มาเลเซีย 1 สมัย.