ทำเอาสังคมไทยต่างพูดถึงกันอย่างไม่หยุดหย่อนอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “การปลดล็อกกัญชา” ที่มีผลไปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ที่ทุกส่วนของต้นกัญชา ไม่ถือเป็นยาเสพติด ยกเว้นนำไปสกัดเป็นสารสกัด และมีปริมาณสาร THC (Tetrahydrocannabinol) มากกว่า 0.2% นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ว่า “ระวัง อาหารที่ใส่กัญชา แล้วผ่านความร้อน จะมีอันตรายกว่าที่คิดครับ” จากข่าวนี้ ที่คุณสรยุทธ เล่าเรื่องที่ทีมงานของเขา ไปกิน “คุกกี้กัญชา” เพียงครึ่งชิ้น มีอาการเมา จนต้องประคอง ทำงานไม่ได้ (อ่านข่าวด้านล่าง) …. เป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายส่งเสริมการใช้กัญชา ต้องรีบทำความเข้าใจกับประชาชนนะครับ

คือ กัญชา นั้นมีสารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ สารซีบีดี CBD และสารทีเอชซี THC … ซึ่งสาร THC ในกัญชานั้น เป็นตัวการทำให้เกิดอาการมึนเมา เคลิ้ม ถ้าผลิตภัณฑ์กัญชาตัวไหน มีสาร THC ในปริมาณสูง ก็จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้เนื่องจากทำให้เป็นพิษและเมาได้

ทีนี้ พอกฎหมายอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ในการทำอาหารได้ แม้ว่าห้ามนำเอาส่วนของกัญชาที่มีสาร THC มาก (เช่น ที่ช่อดอก) มาใส่ในอาหาร ควรใช้แค่บริเวณใบ ซึ่งมีสาร THC น้อยกว่า …. แต่ทั้งผู้ประกอบอาหารและผู้ที่กินอาหารนั้น จะต้องระมัดระวังว่า อย่าให้อาหารนั้นมีปริมาณของใบกัญชาอยู่มากเกินไป เพราะอาจทำให้สาร THC มีความเข้มข้นสูงตามไปด้วย

ทีนี้ เรื่องใหญ่ที่ไม่ค่อยเน้นกันก็คือ “เมื่อใบกัญชาผ่านความร้อน สาร THC จะออกฤทธิ์มากขึ้นกว่าเดิม” เพราะฉะนั้น การปรุงใบกัญชาเป็นอาหารด้วยวิธีการที่ผ่านความร้อนสูง เป็นเวลานาน (ดังเช่น กรณีที่เอามาทำคุ้กกี้ บราวนี่ เบเกอรี่ ฯลฯ) ยิ่งจะต้องระมัดระวัง

“แถมถ้าเป็นการนำใบกัญชา มาผัดน้ำมัน จะยิ่งอันตราย เพราะทั้งผ่านความร้อนและน้ำมัน ที่จะทำให้สกัดสาร THC ออกมาได้มาก อาจมีผลให้ได้สาร THC ปริมาณมากขึ้นอีก” ดังนั้น อย่ามองแต่เรื่อง “ข้อดีของสาร CBD ในกัญชา” อย่างที่โปรโมตกัน แต่ต้องพิจารณาว่า กัญชามีทั้งคุณและโทษนะครับ โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดผลกระทบพัฒนาการสมองของเด็ก และต่อสุขภาพของกลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ เด็กเยาวชน และ ผู้สูงอายุ ครับ..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์