ทำเอาสังคมไทยต่างพูดถึงกันอย่างไม่หยุดหย่อนอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “การปลดล็อกกัญชา” ที่มีผลไปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ที่ทุกส่วนของ ต้นกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด ยกเว้นนำไปสกัดเป็นสารสกัด และมีปริมาณสาร THC (Tetrahydrocannabinol) มากกว่า 0.2% แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้จะมีกัญชาเสรีเกิดขึ้น แต่อันที่จริงแล้วโทษหรือประโยชน์ของ “กัญชา” เป็นอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน

สารใน “กัญชา”
ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี และภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สารสกัดจากกัญชามี 2 ชนิดหลัก คือ THC และ CBD พืชกัญชาส่วนใหญ่มี THC สูงกว่า CBD สามารถสกัดแยกด้วยกระบวนการในห้องปฏิบัติการเท่านั้น นอกจากนี้ยังย้ำอีกว่า การใช้กัญชาเองโดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแล และคำแนะนำของแพทย์ เสี่ยงเกิดโทษต่อร่างกายมากกว่าเป็นผลดี

สาร THC (Tetrahydrocannabinol)
สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ดังนี้
-ลดอาการคลื่นไส้จากยาเคมีบำบัดมะเร็ง
-ลดอาการปวดเรื้อรัง
-ลดอาการเบื่ออาหาร เฉพาะในผู้ป่วยบางกลุ่ม ภายใต้การดูแลของแพทย์
-ลดอาการเกร็ง ในผู้ป่วยโรคระบบประสาทจำเพาะบางชนิด (Multiple Sclerosis)

สาร CBD (Cannabidiol)
สารสกัดจากกัญชาชนิด CBD ช่วยรักษาโรคลมชักในเด็ก เฉพาะกลุ่มอาการ Lennox-Gastaut, Dravet

ประโยชน์ของกัญชา
1.ในอดีตที่ผ่านมากัญชาถูกนำไปผสมกับอาหารเพื่อช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร ทางการแพทย์จึงเลือกใช้สาร THC ที่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีชื่อว่า Dronabinol นำมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งพบว่าสามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนของผู้ป่วยกลุ่มนี้ และทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ดียิ่งขึ้น


2.ในปัจจุบันมีการนำกัญชามาใช้เป็นยาลดความดันในนัยน์ตาของคนที่เป็นต้อหิน (glaucoma) แต่ผลที่ได้ยังไม่ชัดเจน และยังต้องรอการพิสูจน์อยู่ นอกจากนี้ยังมีการนำสารสำคัญในเรซินมาใช้เป็นยาระงับการอาเจียนที่เกิดขึ้นในคนที่เป็นโรคมะเร็ง ซึ่งได้รับการรักษาโดยวิธีเคมีบำบัด (chemotherapy)


3.การที่ร่างกายได้รับสาร Cannabinoids ในปริมาณที่เหมาะสม จะสามารถช่วยป้องกันการเกิดอาการซึมเศร้าที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้สูงอายุได้ เนื่องจากสาร Cannabinoids จะช่วยปรับสมดุลต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้ผู้ใช้มีความสุข ใจเย็นลง และลดการแสดงพฤติกรรมรุนแรงในทางด้านอารมณ์ (หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม)


4.จากงานวิจัยพบว่า สาร THC สามารถยับยั้งเซลล์เอเบตาโปรตีนไม่ให้ผลิตสารพิษที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ เพราะฉะนั้นกัญชาจึงสามารถป้องกันการเกิดอัลไซเมอร์ได้


5.จากการศึกษาพบว่า กัญชามีสรรพคุณในการฆ่าเซลล์มะเร็งและทำให้เนื้อร้ายในสมองเหี่ยวลดลงได้ โดยจากการศึกษาของสำนักปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติอเมริกัน แสดงให้เห็นว่า สารสกัดของกัญชาสามารถช่วยให้คนไข้ตอบสนองกับการบำบัดด้วยการฉายรังสีดีขึ้น ส่วนการทดลองกับสัตว์ ก็พบว่าสารจากกัญชาสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งบางชนิดได้ ทำให้เนื้อร้ายหดเหี่ยวลง โดยมีหลักฐานว่า สารสกัดจากกัญชาสามารถทำให้เนื้อร้ายในสมองชนิดที่ร้ายแรงที่สุดมีขนาดลดลง ซึ่งสารสกัดเหล่านี้เมื่อนำมาใช้ควบคู่กับการฉายแสง จะทำให้ฤทธิ์ในการฆ่ามะเร็งมีเพิ่มมากขึ้นด้วย


6.จากการทดลองล่าสุดแสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากกัญชาอาจสามารถรักษาโรคที่เกิดจากการอักเสบของสมองและไขสันหลัง หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบอื่น ๆ หรือแม้แต่อาจช่วยทำลายเนื้องอกที่อาจกลายเป็นมะเร็งได้ จากการวิจัยพบว่า คนไข้ที่รับ THC หรือสารสกัดจากกัญชาอีกตัวที่เรียกว่า cannabidiol (CBD) สามารถช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและอาการสั่น สามารถทำให้นอนหลับ และมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น อีกทั้ง CBD ยังออกฤทธิ์ได้นานกว่าการใช้สเตียรอยด์หรือยาแก้อักเสบอีกด้วย จึงทำให้ในแคนาดามีการใช้สเปรย์ที่มีส่วนผสมของ cannabinoid เพื่อรักษาโรคที่เกิดจากการอักเสบของสมองและไขสันหลัง (Multiple Sclerosis – MS)

7.สาร cannabinoid ที่พบในกัญชาอาจมีความสัมพันธ์กับระบบการเผาผลาญของร่างกาย โดยพบว่าในผู้ที่สูบกัญชาจะเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานน้อยกว่าคนที่ไม่เคยสูบ โดย Ms. Penner และคณะ ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ของการสูบกัญชากับระดับน้ำตาลในเลือดในอาสาสมัครจำนวน 4,657 ราย (แบ่งเป็น กลุ่มกำลังสูบ, กลุ่มที่เคยสูบแต่เลิกแล้ว และกลุ่มที่ไม่เคยสูบ) ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่สูบกัญชามีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่เคยสูบกัญชาร้อยละ 16 นอกจากนั้นยังพบว่ามีค่า HOMA-IR ต่ำกว่าร้อยละ 17 ระดับคอเลสเตอรอล HDL หรือไขมันชนิดดี สูงกว่า 1.63 mg/dL และมีรอบเอวเล็กกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนกลุ่มที่เคยสูบแต่เลิกไปแล้ว ไม่พบว่ามีการลดลงของระดับน้ำตาลเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยสูบ จากการทดลองดังกล่าว จึงสันนิษฐานได้ว่า ผลของกัญชาที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดจะมีผลเฉพาะในช่วงที่ใช้กัญชาเท่านั้น


8.เส้นใยของลำต้น สามารถนำมาใช้ในการทอผ้าหรือทอกระสอบได้ ซึ่งจะได้ผ้าที่มีคุณภาพดี มีความเหนียวสูง มีค่าการต้านแรงดึงสูง มีความยืดหยุ่น มีแรงบิดสูง น้ำหนักเบา และมีความคงทนมาก นิยมใช้ทำเสื้อเกราะ วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์รถยนต์


9.ทุกวันนี้บริษัททำกระดาษของอเมริกาและญี่ปุ่น ต้องทำลายป่าไม้ปีละกว่า 50,000 ตารางกิโลเมตร แต่การปลูกกัญชาซึ่งเป็นพืชที่มีวงชีวิตเพียง 120 วัน สามารถที่จะปลูกได้ 10 ตันต่อพื้นที่ 2 ไร่ ภายในเวลาเพียง 4 เดือน ซึ่งปลูกได้เร็วกว่าฝ้าย 4 เท่า และให้น้ำหนักมากกว่าฝ้ายถึง 3 เท่า อีกทั้งกัญชายังไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง และยังช่วยเพิ่มคุณภาพของดิน โดยจากการศึกษาพบว่า กัญชาสามารถปลูกและนำมาทำกระดาษได้มากเป็น 4 เท่าของการทำไม้ยืนต้น เส้นใยมีคุณภาพที่ดีกว่า ไม่ต้องใช้คลอรีนเหมือนการทำจากไม้ ซึ่งจะทำให้เกิดสารไดออกซิน ส่วนที่เหลือจากการทำเส้นใยก็สามารถนำมาผสมกับปูนขาวและน้ำ ก็จะได้วัสดุที่เบาและแข็ง มีความทนทานกว่าปูนซีเมนต์ (มีการกล่าวกันว่า กระดาษที่ใช้พิมพ์คัมภีร์ไบเบิล ธงชาติอเมริกัน หรือกางเกงยีนลีวายที่ลือชื่อ แต่เดิมก็ทำมาจากป่านที่ได้จากต้นกัญชาทั้งสิ้น)


10.ใบจากพืชชนิดนี้สามารถนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้

11.น้ำมันที่ได้จากเมล็ดจะเป็นน้ำมันไม่ระเหย (fixed oil) ซึ่งสามารถนำมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ใช้ทำสีทาบ้าน ทำสบู่ เป็นต้น


12.นอกจากนี้ เศษหรือกากที่ได้จากการสกัดเอาน้ำมันจากเมล็ดออกแล้ว ยังใช้เป็นอาหารของโค กระบือ ได้อีกด้วย

โทษของกัญชา
1.ในเบื้องต้นการเสพกัญชาจะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพมีอาการร่าเริง ช่างพูด ตื่นเต้น หัวเราะตลอดเวลา ต่อมาจะมีฤทธิ์กดประสาท ทำให้ผู้เสพมีอาการคล้ายเมาเหล้าอย่างอ่อน เซื่องซึม และง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมากจะหลอนประสาททำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว หวาดระแวง ความคิดสับสน และควบคุมตัวเองไม่ได้ ในบางรายอาจไม่รู้จักตนเองหรือไม่เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว


2.การเสพกัญชาแม้เพียงระยะสั้น ผู้เสพบางรายอาจสูญเสียความทรงจำได้ เพราะกัญชาจะทำให้สมองและความจำเสื่อม เกิดความสับสน วิตกกังวล และหากผู้เสพเป็นผู้ที่มีอาการทางจิตด้วยแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติทั่วไปด้วย โดยอาการทางจิตประสาทที่พบได้บ่อย ๆ คือ สมาธิสั้น ความจำแย่ลง มีปัญหาในการตัดสินใจ และบางคนอาจมีปัญหาเรื่องการทรงตัว นอกจากนี้ยังส่งผลอื่น ๆ ต่อร่างกายด้วย เช่น ม่านตาหรี่ ตาแดง มีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น


3.กัญชามีฤทธิ์ทำลายสมรรถภาพทางกาย ผู้เสพในปริมาณมากเป็นระยะเวลานานจะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมจนไม่สามารถทำงานได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความคิด การตัดสินใจ และแรงงาน สารในกัญชาจะทำลายระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกายหลายส่วน ทำลายระบบการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงทำให้ร่างกายอ่อนแอ ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง มีอาการเพลีย ทำให้น้ำหนักตัวลด ฯลฯ


4.กัญชายังมีฤทธิ์ทำลายความรู้สึกทางเพศ ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในชายลดลง ทำให้ปริมาณอสุจิน้อยลง ผู้เสพจึงมักมีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในที่สุด


5.การสูบบุหรี่ยัดไส้กัญชาเพียง 4 มวน จะเท่ากับการสูบบุหรี่ 20 มวน หรือ 1 ซอง มันจึงสามารถทำลายการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้มากกว่าคนสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 5 เท่า! อีกทั้งกัญชายังมีสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายที่สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ เมื่อเทียบกับบุหรี่ทั่วไปแล้ว ในกัญชาจะมีมากกว่า 50-70%

6.ผู้ที่เคยเสพติดกัญชาส่วนใหญ่จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคจิตในภายหลังมากกว่าคนที่ไม่สูบถึงร้อยละ 60 ยิ่งเสพมากและเสพเป็นเวลานานก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเข้าไปอีก โดยผู้ที่เสพหนักที่สุดจะมีโอกาสเป็นโรคจิตสูงกว่าคนปกติ 4-6 เท่า!


7.การขับรถในขณะเมากัญชาจะก่อให้เกิดอันตรายได้ง่ายมาก เพราะฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้เราเสียสมาธิ ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด การตอบสนองช้า ความสามารถในการมองเห็นสิ่งเคลื่อนที่น้อยลง จึงอาจเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้อื่น


8.หญิงที่เสพกัญชาในระยะตั้งครรภ์ ทารกที่เกิดมาอาจพิการและพบความผิดปกติทางร่างกายได้ เช่น ความผิดปกติของเซลล์ประสาทในสมอง ความผิดปกติของฮอร์โมนเพศ และอาจเป็นโรคทางพันธุกรรม อีกทั้งกัญชายังมีผลเสียต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ เพราะกัญชามีฤทธิ์ทำลายโครโมโซมของทารก


9.เมื่อร่างกายขาดยา จะเกิดอาการผิดปกติทางด้านจิตใจ เช่น มีอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ วิตกกังวล อ่อนเพลีย ฯลฯ

10.การเสพกัญชาเป็นระยะเวลานานจะนำมาซึ่งภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และก่อให้เกิดความผิดปกติของหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว มีความผิดปกติทางสมองจนก่อให้เกิดอาการทางจิตประสาทตามมา ยิ่งเสพมากอาการก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาการที่แสดงให้เห็นถึงความทรมานจากการเสพกัญชาก็มีมากมาย เช่น คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง วิงเวียนศีรษะ ปวดท้องมาก หรืออาจมีอาการแพ้ได้ เช่น เป็นผื่นคัน ตัวบวม อึดอัด หายใจลำบาก หายใจไม่ออก เป็นต้น


11.ด้วยฤทธิ์ของกัญชาที่ทำให้เกิดการผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล รู้สึกสนุกสนาน เคลิบเคลิ้มมีความสุข จึงทำให้มีผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์และเสพติดกัญชาเป็นจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ โดยจะมีจำนวนเป็นรองก็แต่กลุ่มคนที่ติดสุรา กาแฟ และบุหรี่เท่านั้น..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Medthai,@rama.mahidol