จากการที่ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ทุกระดับไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จกับการเข้าร่วมการแข่งขันในรายการระดับนานาชาติอยู่เนืองๆ นั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือแฟนกีฬาสำหรับสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาและยกระดับทีมชาติไทย ไปสู่ความเป็นเลิศ ทั้งปัจจุบันและอนาคต KBU SPORT POLLโดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต จึงสำรวจคิดเห็นเรื่อง “ทิศทางบอลไทยกับมุมมองของแฟนกีฬา”

สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการระหว่างวันที่ 15-18 มิ.ย.65 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปและผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารทางการกีฬาซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,369 คน แบ่งเป็นเพศชาย 805 คน คิดเป็นร้อยละ 58.80 เพศหญิง 564 คน คิดเป็นร้อยละ 41.20

ซึ่งผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ โดยภาพรวมพบว่า พัฒนาการหรือผลงานที่ผ่านมาของทีมชาติไทย กับการแข่งขันในระดับนานาชาติ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.20 เห็นว่าผลงานถอยหลัง รองลงมา ร้อยละ 32.97 คงเดิม ร้อยละ 18.55 ดีขึ้น และร้อยละ 15.28 ไม่แน่ใจ

มูลเหตุของปัญหาสำหรับทีมชาติไทย กลุ่มอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 29.36 สะท้อนว่าขาดการบริหารจัดการที่ดี รองลงมาร้อยละ 27.80 ระยะเวลาการเตรียมทีม ร้อยละ 18.37 วิสัยทัศน์ผู้บริหารองค์กร ร้อยละ 13.04 โปรแกรมการแข่งขันภายใน ร้อยละ 9.03 การมีส่วนร่วมของสโมสรสมาชิก และอื่นๆ ร้อยละ 2.4

แนวทางการพัฒนาและการกำหนดทิศทางอนาคต ส่วนใหญ่ ร้อยละ 24.08 แสวงหาผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เข้าใจในบริบทของกีฬาฟุตบอลสมัยใหม่ รองลงมา ร้อยละ 22.48 กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ชัดเจน ร้อยละ 20.09 สร้างและพัฒนานักกีฬารุ่นเยาว์หรือดรีมทีม ร้อยละ 18.66 พัฒนาและยกระดับฟุตบอลลีกสู่มาตรฐานสากล ร้อยละ 8.01 พัฒนาและยกระดับผู้ฝึกสอน ร้อยละ 4.63 พัฒนาและยกระดับผู้ตัดสิน และอื่นๆ ร้อยละ 2.05

ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสำหรับความล้มเหลวในการแข่งขัน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.68 นายกสมาคมฯ รองลงมา ร้อยละ 27.03 สภากรรมการฯ ร้อยละ 25.91 หัวหน้าผู้ฝึกสอน ร้อยละ 12.37 ผู้จัดการทีม ร้อยละ 2.44 นักกีฬา และร้อยละ 1.57 สโมสรสมาชิก

ความคาดหวังกับทิศทางอนาคตของทีมชาติไทย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.02 สร้างผลงานเข้ารอบลึกๆ ในทุกทัวร์นาเมนต์ รองลงมา ร้อยละ 24.77 กำหนดระยะเวลาการเตรียมทีมที่เหมาะสม ร้อยละ 17.33 สร้างผลงานและความประทับใจให้แฟนบอล ร้อยละ 15.94 จัดผู้เล่นที่ดีและพร้อมที่สุดในแต่ละทัวร์นาเมนท์ ร้อยละ 12.80 นำวิทยาศาตสร์การกีฬาเข้ามาสนับสนุนการเตรียมทีม และอื่นๆ ร้อยละ 3.14

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างได้สะท้อนมุมมองในมิติที่หลากหลายและน่าสนใจยิ่ง ซึ่งหากพิจารณาในรายด้านโดยเฉพาะพัฒนาการหรือมูลเหตุของปัญหา ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกับผลงานในการเข้าร่วมการแข่งขัน จะเห็นได้ว่าจากมุมมองเหล่านั้น อาจจะสอดคล้องกับปรากฎการณ์ที่แฟนกีฬาได้พบเห็นอยู่เนืองๆ ดังนั้นเพื่อให้ทิศทางอนาคตของทีมชาติไทย ก้าวไปสู่ความสำเร็จแห่งอนาคตและเป็นไปตามความคาดหวังของแฟนบอลออย่างแท้จริง เชื่อว่าถ้าสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ หรือผู้เกี่ยวข้อง ได้นำผลการสำรวจดังกล่าวไปปรับใช้หรือเป็นฐานข้อมูลก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการลูกหนังไทยไม่มากก็น้อย