เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นายพิช้ย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยยังน่ากังวลอย่างมากใน 4 ปัญหาที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้เตือนไว้แล้วตั้งแต่ต้นปีคือ ปัญหาราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้า ปัญหาข้าวของแพง อัตราเงินเฟ้อสูง ปัญหาหนี้ ทั้งหนี้ประเทศ หนี้ประชาชน ปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้น โดยทั้ง 4 ปัญหานี้จะเป็นปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ได้ออก 8 มาตรการ โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชน แต่ในความเป็นจริงเป็นการช่วยเหลือที่น้อยมาก หรือแทบไม่ช่วยเลย ที่ช่วยก็ช่วยเฉพาะคนกลุ่มเล็กมาก แถมหลายมาตรการยังเป็นการซ้ำเติมมากกว่าจะเป็นการช่วยเหลือ โดยขอวิเคราะห์ดังนี้ 1.มาตรการช่วยแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดีการของรัฐ และผู้ถือบัตรสวัสดิการแก่งรัฐ เป็นค่าก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท เท่ากับช่วยวันละ 3.33 บาท ซึ่งน้อยมาก

2.มาตรการตรึงราคา NGV สำหรับแท็กซี่ ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน ซึ่งก็ดีแต่มีคนจำนวนไม่มากนักที่ได้ประโยชน์ 3.วางกรอบขายปลีก LPG ที่ 408 บาท/ถัง 15 กก. นี่ไม่ใข่ช่วยแต่เป็นการเพิ่มราคาก๊าซหุงต้ม เพราะปัจจุบันยังขายอยู่ที่ 363 บาท สำหรับถัง 15 กก. โดยรัฐจะขึ้นราคาไปอีก 3 ครั้งจนถึง 408 บาท ซึ่งไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือเลย

4.มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยให้เอกชนสามารถนำมาหักภาษีได้ 1.5 เท่า เมืองรอง 2 เท่า แต่รัฐบาลกลับมีแนวคิดจะเก็บค่าเหยียบแผ่นดินคนละ 300 บาท ซึ่งเป็นการย้อนแย้งกับมาตรการนี้ ทั้งที่การดึงดูดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะสำคัญและจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของไทยมากกว่า 5.อุดหนุนราคาดีเซล 50% ในส่วนที่สูงเกินลิตรละ 35 บาท นี่เท่ากับเป็นการประกาศว่าจะขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเกินกว่าลิตรละ 35 บาท อาจจะสูงเกินลิตรละ 38 บาทอีกด้วย ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือแต่อย่างใด

6.ขอความร่วมมือจากโรงกลั่น ในการส่งกำไรจากส่วนต่างของน้ำมันเบนซินและดีเซล ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะได้ผลไหม โรงกลั่นต้องไปถามผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนหรือไม่ ถ้าทำได้ก็ดี 7.ช่วยเหลือมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการชนส่งทางบก เดือนละ 250 บาท หรือ วันละ 8 บาทกว่า เท่านั้น แถมมอเตอไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนมีเพียง 157,000 คนเท่านั้น และ 8.ขอความร่วมมือประหยัดพลังงาน ยังงงว่านี่เป็นการช่วยเหลือได้อย่างไร

ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่าทั้ง 8 มาตรการ แทบไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนเลย แถมยังซ้ำเติมความยากลำบากอีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ขึ้นราคาน้ำมันดีเซล เป็นการเพิ่มภาระอย่างชัดเจน

ทั้งนี้อยากขอแนะนำวิธีการหาเงินที่ถูกต้องและสามารถทำได้ทันที คือการเก็บเงินจากก๊าซ LPG ที่ส่งเข้าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศ โดยในสมัยรัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตนเป็น รมว.พลังงาน ได้สั่งให้เก็บเงินจากการส่งก๊าซ LPG เข้าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแล้ว ในอัตรา กก.ละ 1 บาท เข้ากองทุนน้ำมัน ทั้งนี้เพราะก๊าซ LPG ได้มาจากก๊าซในอ่าวไทยโดยผ่านจากโรงงานแยกก๊าซและ ก๊าซ LPG ยังได้มาจากการกลั่นน้ำมัน ขนาดประชาชนซื้อก๊าซ LPG หรือ ก๊าซหุงต้มนี้ ยังต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันและจ่ายภาษีเลย แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลับไม่ได้จ่ายเลยในขณะนั้น ตนจึงสั่งให้จ่ายแต่ต่อมามีการยกเลิกการเก็บไป ซึ่งไม่ทราบเพราะสาเหตุใด และเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่ยกเลิกการเก็บนี้ เป็นการเอาเปรียบประชาชน

ดังนั้นจึงควรกลับมาเก็บใหม่และควรจะเก็บมากขึ้นเป็นอัตรา กก.ละ 5-8 บาท เพราะราคา LPG ปัจจุบันสูงขึ้นกว่าเดิมมาก ตอนนี้ธุรกิจปิโตรเคมีมีกำไรกันอย่างมหาศาลซึ่งมีผลกระทบน้อยมาก แต่จะทำให้กองทุนน้ำมันได้เงินเป็นหมื่นล้านบาท สามารถทำได้ทันทีและถูกกฎหมายด้วย สามารถนำมาช่วยลดราคาก๊าซ LPG ที่ประชาชนใช้อยู่ จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำไปพิจารณาเร่งทำเพื่อช่วยเหลือประชาชน

“อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดใจรับฟังเหมือนตอนที่ตนเสนอให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท คุณบอกเองว่าทำไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ต้องทำ เรื่องนี้ก็เช่นกัน สามารถทำได้แน่นอนเพราะผมเคยทำมาแล้ว โดยอยากให้นายกฯ ฝึกคิดเรื่องที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์บ้าง ไม่ใช่คิดแต่เรื่องย้อนยุคเช่น เตาอั้งโล่ เอามาตั้งชื่อใหม่เป็นเตามหาเศรษฐี ซึ่งทั้งล้าสมัยและสร้างมลพิษอย่างมาก ทำลายป่าเพื่อนำไปทำถ่าน และการเผาจะทำให้เกิด PM 2.5 อย่างมาก ไม่ทราบว่าคิดออกมาได้อย่างไร เรื่องเก็บเงินก๊าซ LPG จากธุรกิจปิโตรเคมี พล.อ.ประยุทธ์ ต้องอย่าเห็นประโยชน์ของ ปตท. มากกว่าประโยชน์ของประชาชน ซึ่งถ้าไม่ทำ พรรคเพื่อไทยจะทำแน่ ถ้าชนะการเลือกตั้ง เพราะเป็นความชอบธรรมและเป็นประโยชน์กับประชาชน” นายพิชัย กล่าว