เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 เม.ย. 2567 ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) จะขอให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมาให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. บางคน เนื่องจากมีประวัติและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ กรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่ ซึ่งทางสภาผู้แทนราษฎรจะมีอำนาจหน้าที่หรือไม่ ว่า ยังไม่ได้มีการส่งเรื่องมา แต่ความจริงการตรวจสอบกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ต้องส่งมาที่สภาผู้แทนราษฎร หากต้องการตรวจสอบก็ส่งเรื่องไปที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาทางการเมืองได้เลย ซึ่งข้อปฏิบัติแบบนี้  เช่น คดีของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส.ราชบุรี พรคพลังประชารัฐ หรือคดีอื่นๆ แต่ถ้าร้องคนอื่นก็ต้องไปร้องที่ ป.ป.ช.

เมื่อถามว่า ในกรณีที่ กรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจในการตรวจสอบหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตามกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมและการตรวจสอบ ป.ป.ช.นั้น ถ้า ป.ป.ช.กระทำความผิดเอง ก็ร้องไปที่ศาลฎีกาเองเลย ซึ่งทางศาลฯ จะตั้งกรรมการชุดพิเศษเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ในคำร้องเป็นเบื้องต้นก่อนว่าจะรับดำเนินการได้หรือไม่ หากมีข้อมูลเพียงพอก็ไต่สวนและดำเนินการต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่อาจจะเกิดขึ้นคราวนี้ก็ได้ เพราะกฎหมายนี้เพิ่งใช้ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งจะมีการตรวจสอบทุกองค์กร โดยจะมีการบอกว่าองค์กรไหนตรวจสอบอย่างไร เนื่องจาก ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบคนอื่น ฉะนั้น ถ้า ป.ป.ช. ถูกตรวจสอบ เขาจึงไม่ให้ร้องไปที่ ป.ป.ช. แต่ให้ร้องไปที่ศาลฎีกาได้

เมื่อถามว่า ในเอกสารของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุว่าขอให้ ป.ป.ช.ส่งเรื่องตรวจสอบคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช.อีกคน ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในกรณีตรวจสอบ ป.ป.ช ซึ่งถ้าตรวจสอบ ป.ป.ช.กันเอง ก็ต้องส่งไปหน่วยที่สูงกว่า ป.ป.ช. หรือศาลฎีกา.