เมื่อวันที่ 5 ก.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการขับเคลื่อนนโยบาย “โครงการพาน้องกลับมาเรียน” ซึ่งเป็นโครงการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนอย่างเต็มที่ ด้วยแนวคิดที่ว่า “การศึกษาไทยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ผ่านการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัด ศธ. ในการค้นหาและติดตามเด็กตกหล่นและออกกลางคันให้มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง โดยจากการดำเนินโครงการนี้ในเฟสแรกตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจากจำนวนนักเรียน นักศึกษา นักเรียนพิการ และผู้พิการ ที่ตกหล่นและออกกลางคัน รวม 121,642 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่มปกติ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รวมทั้งสิ้น 67,129 คน พบตัวแล้ว 52,760 คน ในจำนวนที่พบตัวนี้กลับเข้าระบบ 31,446 คน ไม่กลับเข้าระบบ 21,314 คน อยู่ระหว่างการติดตาม 5,628 คน และติดตามแล้วไม่พบตัว 8,741 คน ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มนักเรียนพิการ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สพฐ. และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษา กศน.อายุเกิน 18 ปี ที่เกินวัยการศึกษาภาคบังคับและมีความต้องการประกอบอาชีพ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้จากการดำเนินโครงการพาน้องกลับมาเรียนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อเสนอแนะมายัง ศธ.ว่า อยากให้โครงการดังกล่าวมีความยั่งยืนและมีการขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นแบบฉาบฉวยผ่านมาแล้วผ่านไป ดังนั้นตนจึงได้มอบโจทย์ให้หน่วยงานหลักในศธ.ที่เกี่ยวข้องไปจัดทำข้อมูลว่าจะดำเนินการอย่างไรให้โครงการนี้มีความยั่งยืนและต่อเนื่อง หรือจะนำภาคเอกชนเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนในโครงการนี้ได้อย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันจากการสำรวจเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาส่วนใหญ่มาจากสภาวะทางการเงินของครอบครัวส่งผลให้ไม่ได้ศึกษาต่อหรือต้องหยุดเรียน ดังนั้นอาจจะมีการจัดตั้งกองทุนพาน้องกลับมาเรียนเกิดขึ้น เพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนเด็กที่มีครอบครัวฐานะยากจนด้วย