ก่อนหน้านี้ ‘แกลลัพ อิงค์’ บริษัทให้คำปรึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากสหรัฐ ซึ่งมีชื่อเสียงจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในหัวข้อต่าง ๆ จากภูมิภาคทั่วโลกและนำมาจัดอันดับ เพิ่งเปิดเผยผลการสำรวจล่าสุดซึ่งเป็นการจัดอันดับ ‘สภาพทางจิตใจและอารมณ์’ ของประชาชนในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 100 ประเทศ ซึ่งใช้ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงช่วงต้นปี 2565 อยู่ในรายงานที่เรียกว่า ‘Gallup Global Emotions Report 2022’

ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมตอบแบบสำรวจดังกล่าว จะต้องมีการตอบแบบสอบถาม โดยมีตัวเลือกคำตอบเพียง 3 อย่างคือ “ใช่”, “ไม่ใช่” และ “ไม่ทราบ/ไม่ต้องการตอบ” ทั้งนี้ ผู้ที่ตอบแบบสอบถามมีอายุ 15 ปีขึ้นไป และต้องตอบคำถามเกี่ยวกับสภาวะทางอารมณ์ เช่น ระดับความเครียด ความโกรธและความเศร้า ก่อนที่จะลงมือทำแบบสำรวจเป็นเวลา 1 วัน

มีรายงานของผลที่ได้จากการตอบแบบสอบถามเฉพาะของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในครั้งนี้ โดยระบุว่า ชาวฟิลิปปินส์จำนวน 48% ตอบว่า “ใช่” ต่อคำถามที่ถามว่าตนเองรู้สึกเครียดและวิตกกังวลหรือไม่ ซึ่งเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์สูงสุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่ ‘เครียด’ ที่สุด ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน 44% ของผู้ตอบแบบสอบถาม และกัมพูชาเป็นอันดับ 3 ด้วยสัดส่วน 40% 

สำหรับหัวข้อที่ว่าด้วยอารมณ์โกรธนั้น ประเทศลาว อยู่ในอันดับ 1 โดยมีชาวลาวที่ทำแบบสอบถามจำนวน 29% ที่ตอบว่ารู้สึกโกรธ ส่วนฟิลิปปินส์ ตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน 27% ส่วนอินโดนีเซีย, กัมพูชา, ไทยและเมียนมา มีสัดส่วนเท่ากันคือ 20%

แต่กัมพูชาได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศกลุ่มเอเชียอาคเนย์ในหัวข้อเกี่ยวกับความรู้สึกเศร้าเสียใจ ด้วยสัดส่วน 42% ของผู้ที่ตอบว่า “ใช่” ต่อคำถามว่ารู้สึกเศร้าหรือไม่ ฟิลิปปินส์ก็ตามมาเป็นอันดับ 2 ในหัวข้อนี้ด้วยตัวเลขสัดส่วน 35% ขณะที่เวียดนามอยู่ในอันดับ 3 กับตัวเลขบอกสัดส่วน 27% 

ในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีประชาชนรู้สึกโกรธและเศร้าในสัดส่วนที่ต่ำที่สุด

แม้ว่าฟิลิปปินส์จะอยู่ในอันดับต้น ๆ ของหัวข้อเกี่ยวกับอารมณ์ในแง่ลบ แต่ก็เป็นประเทศที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของหัวข้อในแง่บวกด้วย

ในแบบสอบถามจะมีหัวข้อที่ถามว่าผู้ตอบได้เรียนรู้หรือได้ทำสิ่งที่น่าสนใจในวันก่อนหน้าที่จะมาร่วมทำแบบสำรวจหรือไม่ ซึ่งชาวฟิลิปปินส์ที่ตอบแบบสอบถามหัวข้อนี้ 78% ตอบว่า “ใช่” นับเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดในกลุ่มประเทศเอเชียนตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ไทย ตามมาด้วยตัวเลขบอกสัดส่วน 71% และมาเลเซีย ต่อท้ายด้วยจำนวน 56%

ในหัวข้อที่เกี่ยวกับการความเคารพนับถือหรือการให้เกียรติ ผู้ตอบแบบสอบถามชาวฟิลิปปินส์จำนวน 95% ตอบว่า “ใช่” เมื่อโดนถามว่ารู้สึกว่าตนเองได้รับการปฏิบัติจากผู้อื่นอย่างให้เกียรติหรือไม่ โดยมีอินโดนีเซีย ตามมาเป็นอันดับ 2 กับตัวเลข 93% และเวียดนามเป็นอันดับ  3 กับสัดส่วนที่สูงถึง 92%

ทาง แกลลัพ อิงค์ จะนำผลจากการตอบแบบสอบถามและแบบสำรวจในแต่ละประเทศทั่วโลก ไปเป็นฐานข้อมูลในการจัดทำดัชนี PEI (Positive Experience Index) หรือดัชนีระบุค่าประสบการณ์ทางบวก และดัชนี NEI (Negative Experience Index) หรือดัชนีระบุค่าประสบการณ์ทางลบ

แกลลัพ อธิบายว่าในปีนี้ ค่าดัชนี PEI จะเกี่ยวข้องกับมุมมองของประชาชนด้านมาตรฐานการใช้ชีวิต, เสรีภาพส่วนบุคคลและการรับรู้ตัวตนบนเครือข่ายสังคม ในขณะที่ดัชนี NEI คือเรื่องของประสบการณ์ของประชาชนที่มีต่อปัญหาสุขภาพและความสามารถที่จะจับจ่ายเงินทองเพื่อซื้อหาอาหาร โดยภาพรวมของดัชนีทั้งสองนี้ เป็นส่วนที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้

แหล่งข่าว : nextshark.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES