เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ฮือฮามากในไทย หลังมีแฟนเพจเฟซบุ๊กโรงพยาบาล @Ramathibodi School of Nursing, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital ได้โพสต์ระบุข้อความว่า “บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด โดย คุณจุน-คุณสุนทรี วนวิทย์ และครอบครัว บริจาคเงิน 900,000,000 บาท แก่มูลนิธิรามาธิบดีฯ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ภาวิทย์ เพียรวิจิตร รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร เป็นตัวแทนร่วมรับมอบ

ทั้งนี้ บริจาคสมทบทุนเพื่อโครงการปรับปรุงอาคารโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เป็นเงินจำนวน 160,000,000 บาท บริจาคสมทบทุนโครงการศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา เป็นจำนวนเงิน 300,000,000 บาท และบริจาคสมทบทุนโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี เป็นจำนวนเงิน 440,000,000 บาท เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565” จนกลายเป็นกระแสโซเชียลถาโถมมากมายว่า เขาคือใครทำไมจิตใจดี และมีเมตตาขนาดนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ชื่นชมเจ้าของพัดลมฮาตาริ บริจาคเงิน900ล้านให้มูลนิธิรามาธิบดี

วันนี้เดลินิวส์จะพาทุกคนไปรู้จัก “จุน วนวิทย์” พร้อมย้อนรอยจุดเริ่มต้นความเป็นมาบริษัทฮาตาริ และเรื่องราวสุดซาบซึ้ง โดยนายจุน วนวิทย์ เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 ที่กรุงเทพมหานคร (ปัจจุบันอายุ 85 ปี) ในวัยเด็กเขาไม่ได้เรียนหนังสือในระบบโรงเรียน เทียบแล้วจบเพียงชั้น ป.2 และไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษา แต่ด้วยความที่เป็นผู้มีความวิริยอุตสาหะ พยายามขวนขวาย แสวงหาความรู้ เขาได้เริ่มศึกษาภาษาไทย-จีน ด้วยตนเอง จากคุณครูที่สอนพิเศษตามบ้าน พร้อมทำงานเป็นลูกจ้างกวาดพื้นร้านขายข้าวสารส่งออกต่างประเทศที่ถนนสี่พระยา ตั้งแต่อายุเพียง 12 ขวบ และได้เปลี่ยนอาชีพมาเป็นช่างทำทอง, ขับรถโดยสารรับจ้าง, ลูกจ้างร้านทำป้ายพลาสติก, ลูกจ้างโรงกลึง, ช่างทำแม่พิมพ์สำหรับฉีดชิ้นงานพลาสติก 

เขาเริ่มกักเก็บประสบการณ์ของการประกอบอาชีพมาหลากหลาย และเห็นช่องทางธุรกิจ จึงได้ออกแบบและผลิตของเล่นเด็กออกจำหน่ายตั้งแต่เมื่ออายุ 28 ปี และเดิมทีมีความรู้ทางการฉีดพลาสติก ต่อมาเกิดความคิดอยากจะทำโครงพัดลมด้วยพลาสติก ซึ่งในสมัยนั้น โครงกรอบพัดลมล้วนทำด้วยโลหะอะลูมิเนียม และได้เริ่มเสนอขายชิ้นงานให้กับโรงงานผลิตพัดลมที่มีอยู่ในขณะนั้น เป็นผลให้มีการเริ่มใช้กรอบโครงของพัดลมเป็นพลาสติกตั้งแต่นั้นมา

จากนั้นเขาเรียนรู้วิธีการพันมอเตอร์ที่ประเทศไต้หวัน แล้วจึงนำมาผลิตพัดลมที่ใช้ชิ้นส่วนพลาสติกทั้งหมด ออกจำหน่ายเป็นของตัวเอง โดยเริ่มแรกใช้ชื่อยี่ห้อ K และยี่ห้อ TORY 

เมื่ออายุ 52 ปี จึงได้ผลิตพัดลมยี่ห้อ “ฮาตาริ” ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรก และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับพัดลมทุกประเภท รวมทั้งเครื่องฟอกอากาศ และเครื่องซักผ้าขนาดเล็กออกสู่ตลาด และแม้ว่าในบางช่วงจะประสบวิกฤติทางด้านการเงินเป็นอย่างมาก ก็ยังสามารถบริหารจัดการให้บริษัทผ่านพ้นมรสุมได้เป็นอย่างดี 

การผลิตสินค้าดังกล่าวนั้น ดำเนินการโดยบริษัทในเครือวนวิทย์กรุ๊ป ได้แก่ (บริษัท วนวิทย์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด), (บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด) และบริษัทวนวิทย์เมทัลเวิร์ค จำกัด โดยมีนายจุน วนวิทย์ เป็นประธานกรรมการ 

โดยเขาคิดเสมอว่า คนไทยมิได้มีความสามารถด้อยกว่าใคร ไม่ต้องรอให้ชาวต่างชาติเป็นผู้นำและคนไทยเป็นผู้ตามเสมอไป นอกจากนี้ยังได้ใช้กลยุทธ์การบริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเป็นแนวทางการทำงานมาโดยตลอด 2 ประการ คือ “ใช้ต้นทุนเท่าเดิม แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น” และ “ใช้ต้นทุนลดลง แต่ได้ผลผลิตเท่าเดิม” รวมทั้งกำหนดวิสัยทัศน์ของบริษัทในเครือไว้ว่า “ฮาตาริ คือผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายลม”

ผลประกอบการของ Hatari ปีละเท่าไหร่ 

ธุรกิจพัดลม Hatari แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือการผลิตและการจัดจำหน่าย ผ่าน 2 บริษัทหลักๆ ในเครือวนวิทย์กรุ๊ป

  • บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด มีหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายพัดลม มีรายได้ปีละกว่า 6,000 ล้านบาท 
  • บริษัท วนวิทย์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งมีหน้าที่เป็นบริษัทผู้ผลิต มีรายได้ต่อปีกว่า 5,000 ล้านบาท      

โดยภาพรวมของธุรกิจปัจจุบันบริษัทในเครือวนวิทย์กรุ๊ป มีพนักงานรวมกว่า 2,000 คน ส่งผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายทั่วประเทศไทยและต่างประเทศ มีผลประกอบการปีละกว่า 4,000-6,000 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดในผลิตภัณฑ์พัดลมในประเทศ ประมาณร้อยละ 80 สามารถลดการนำเข้าพัดลมจากต่างประเทศได้เกือบทั้งหมดอีกด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ผ่าอาณาจักรธุรกิจ พัดลม ‘ฮาตาริ’ ของเศรษฐีใจบุญ ‘จุน วนวิทย์’

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @Ramathibodi School of Nursing, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, @ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 2555