เมื่อวันที่ 7 ส.ค. นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้าง (คณะกรรมการไตรภาคี) เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกันของคณะกรรมการไตรภาคีมาหลายครั้ง คุยกันมาตลอด ล่าสุดคณะกรรมการวิชาการได้มีการหารือสรุปเข้าที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคีในปลายเดือน ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เบื้องต้นจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 5-8% เพราะตัวเลขที่แต่ละจังหวัดเสนอเข้ามาประมาณ 3-8 % ดังนั้นถ้าคิดเป็นตัวเงินสูงสุดประมาณ 20 กว่าบาท แต่ละจังหวัดจะไม่เท่ากัน โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างเดิมซึ่งจะอยู่ที่ 313-336 บาท ห่างกัน 23 บาท แบ่งออกเป็น 20 ช่วง แต่ของใหม่ที่จังหวัดทำเสนอเข้ามานั้นมีประมาณ 30 ช่วง ซึ่งย่อยมาก ตอนนี้กำลังดูว่าจังหวัดที่อยู่ใกล้กันอาจจะมีการปรับนิดหน่อย ตัวเลขตอนนี้เลยยังไม่นิ่ง แต่อยู่ที่ประมาณนี้ตามอัตราเงินเฟ้อ 5-7 % และขึ้นอยู่กับฐานของแต่ละจังหวัดด้วย

“การขึ้นค่าจ้าง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สินค้าขึ้นราคา แต่ตอนนี้ถึงไม่ขึ้นค่าจ้าง สินค้าก็ขึ้นราคาแล้วเพราะมีปัจจัยจากทั้งเงินเฟ้อ น้ำมันแพง ค่าไฟแพง และแน่นอนค่าแรงก็เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้ค่าแรงขึ้น” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว และเชื่อรัฐบาลมีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ส่วนจังหวัดที่จะมีการปรับค่าจ้างสูงสุดหลักการคือต้องดูจากฐานเก่า เช่น ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง กรุงเทพฯ อยู่ในเรตค่าจ้างสูง 330 บาทขึ้นไป ถ้าคิดง่ายๆ ว่าขึ้น 5% ก็ต้องขึ้นไปสูงอีก ย้ำว่านี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างแต่ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจังหวัดไหนจะได้เพิ่มเท่าไหร่ เพราะคราวนี้มีบางจังหวัดเสนอสูงโด่งไปมากกว่า 492 บาท ซึ่งในความเป็นจริงทำได้ยาก.