เมื่อวันที่ 12 ส.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามประกาศเตือนภัยพายุดีเปรสชัน “มู่หลาน” ของกรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

ทั้งนี้ขอให้ประชาชนในที่อาศัยอยู่ใน 15 จังหวัด ระวังอันตราย ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก เลย หนองบัวลำภู หนองคาย และอุดรธานี ขอให้ติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กำชับหน่วยงานในพื้นที่เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตเป็นหลัก หากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ขอให้เร่งฟื้นฟูช่วยเหลือให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายขอให้เร่งซ่อมแซม พร้อมลงพื้นที่สำรวจเพื่อเร่งเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบตามระเบียบราชการต่อไป” นายธนกร กล่าว

ทางด้าน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานพายุโซนร้อน “มู่หลาน” อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันบริเวณเมืองลางซอน ประเทศเวียดนาม และอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านเมียนมา ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และลาวตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 11–12 ส.ค.65 ส่งผลให้เกิดอุทกภัยและวาตภัย ดังนี้

อุทกภัย รวม 2 จังหวัด 2 อำเภอ 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ได้แก่ จ.น่าน เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมใน ต.เชียงกลาง อ.เชียงกลาง ปัจจุบันระดับน้ำลดลง จ.นครพนม เกิดน้ำท่วมขังในเทศบาลเมืองนครพนม อ.เมืองนครพนม น้ำท่วมขังถนนอภิบาลบัญชา ถนนบำรุงเมือง และถนนเทศาประดิษฐ์ ระดับน้ำท่วมสูง 30–60 ซม. ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

วาตภัย จ.จันทบุรี เกิดวาตภัยในต.หนองบัว อ.เมืองจันทบุรี ทำให้กิ่งไม้ขนาดใหญ่หักโค่นทับบ้านเรือนประชาชนเสียหาย 2 หลัง รถยนต์ 1 คัน รถจักรยานยนต์ 1 คัน ไม่มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ปภ.ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง.