สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากเมืองอิบาดัน ประเทศไนจีเรีย เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ว่า ในเมืองอิบาดัน ศูนย์กลางธุรกิจสตาร์ตอัพด้านการขนส่งและเทคโนโลยี ซึ่งห่างจากเมืองลากอสไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 130 กิโลเมตร ดร.รันจนา พัตตาชารี นักอณูพันธุศาสตร์ กล่าวว่า เธอหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ด้วยการช่วยสร้างพืชที่แข็งแรงและปรับตัวได้มากขึ้น

เธอทำงานอยู่ที่สถาบันเกษตรเขตร้อนระหว่างประเทศ (ไอไอทีเอ) ที่ตั้งอยู่ในเมืองอิบาดัน เพื่อจัดลำดับจีโนมทั้งหมดของตัวอย่างมันเทศราว 1,000 ตัวอย่าง ซึ่งเธอกล่าวว่า เป็นการปูทางสู่ความเคลื่อนไหวที่ทำให้มั่นใจว่า พืชผลในอนาคตจะปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น

“ถ้าคุณอยากปรับปรุงพืชผล คุณต้องทำการจัดลำดับจีโนมเพื่อเข้าใจยีนในลักษณะของสิ่งที่เป็นเป้าหมายของคุณ เช่น ความต้านทานโรค และคุณภาพ” พัตตาชารี กล่าว

แผงขายมันเทศ ที่ตลาดแห่งหนึ่ง ในเมืองโอโย ทางตะวันตกของไนจีเรีย

อนึ่ง ความจำเป็นในการส่งเสริมพืชผลที่ปลูกในท้องถิ่นนั้นสูงมาก เพราะการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารโลก เนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่บางประเทศตัดสินใจส่งออกอาหารน้อยลง และสงครามในยูเครนยังขัดขวางการส่งออกเมล็ดธัญพืช และน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันอีกด้วย

นอกจากนี้ การจัดลำดับจีโนมมันเทศยังช่วยให้เกษตรกรในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ซึ่งปลูกมันเทศรวมกัน คิดเป็นสัดส่วนราว 90% ทั่วโลก ปรับปรุงผลผลิตและรักษาคุณภาพให้อยู่ในระดับสูงได้ โดยพัตตาชารี กล่าวเสริมว่า เมื่อผลการวิจัยได้รับการเผยแพร่แล้ว คนอื่น ๆ ก็จะนำมันไปประยุกต์ใช้ต่อไป.

เครดิตภาพ : REUTERS