เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 17 ส.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 และวาระ 3 ระหว่างการพิจารณามาตรา 6 ซึ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง จำนวน 590,470,000,000 บาท ที่จำแนกเป็น 12 รายการ โดย กมธ. และ ส.ส.ฝ่ายค้านทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ต่างอภิปรายไปในทิศทางเดียวกันคือ การเสนอปรับลดงบกลางลง เนื่องจากเป็นการตั้งงบที่ไม่ได้นำไปใช้ในงานเร่งด่วน และฉุกเฉิน งบจำนวนมากนำไปใช้จ่ายให้กับเงินเดือนข้าราชการ อีกทั้งยังไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบยาก

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.ที่ขอสงวนความเห็นว่า จากรายงานของสำนักงานงบประมาณรัฐสภา พบว่างบกลางมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส 3 เรื่องคือ 1.กระบวนการพิจารณา 2.กระบวนการใช้จ่าย และ 3. กระบวนการตรวจสอบ โดยงบกลางในรายการเงินเลื่อนเงินเดือน และเงินปรับวุฒิข้าราชการ ที่ปี 66 ตั้งงบไว้ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ปี 57-64 ไม่เคยมีการเบิกจ่ายเลยแม้แต่บาทเดียว ดังนั้นเราจึงสามารถปรับลดลงได้

ส่วนงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินเร่งด่วนจำเป็น ปี 66 ตั้งงบไว้ 92,400,000,000 บาท โดยปี 65 อนุมัติไปตามมติ ครม.แล้ว 4.4 หมื่นล้านบาท และยังต้องนำมากลบเกลื่อนความผิดของรัฐบาลที่ตั้งเงินเดือนไว้ไม่พอจ่ายสำหรับปีนี้ จึงต้องเข้าไปขอให้ ครม.อนุมัติอีก 2.3 หมื่นล้านบาท ตนเคยพูดว่างบที่มีอย่างจำกัด หากไม่ปรับโครงสร้างอย่างจริงจัง อาจจะกระทบกับเงินเดือนข้าราชการก็เป็นได้ และเป็นจริงๆ อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ครม.มีมติจะจัดสรรงบกลางให้กองทุนน้ำมัน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน หรืออาจจะต้องเลื่อนไปถึงงบกลางของปี 66 หรือไม่

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า เงินสำรองจ่ายฉุกเฉินเร่งด่วนจำเป็น มีการเบิกจ่ายต่ำมากเฉลี่ย 5 ปี เบิกจ่ายเพียง 50% ทั้งนี้งบส่วนนี้สามารถโอนเปลี่ยนแปลงระหว่างรายการงบกลางได้ โดยที่เราไม่รู้ว่าเอาไปไหน เอาไปทำอะไร ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณควรจะต้องดูถึงความพร้อมของการดำเนินการและความจำเป็นเร่งด่วนของโครงการด้วย ตนจึงขอตัดลดงบกลางในทุกรายการให้เหลือ 590,000,000,046 ล้านบาท

ทางด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะ กมธ.ที่ขอสงวนความเห็น อภิปรายว่า ตนขอเสนอปรับลดงบกลาง 5% เพราะมีอัตรา 18.5% ของงบประมาณทั้งหมด ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี แต่กลับไม่มีการวินัยในการใช้งบ จนอาจทำให้เกิดภาวะภัยทางศีลธรรม ในกระบวนการพิจารณาปีนี้ มีหลายครั้งที่ตั้งงบที่ดูแล้วไม่พอที่จะทำโครงการ เมื่อตนถามหน่วยงานนั้นไป ก็จะได้รับคำตอบว่า ไว้ไปขอจากงบกลาง ตัวอย่างแรกคือ โครงการสวัสดิการประชารัฐ ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้คือการเพิ่มจำนวนประชากรผู้ใช้สิทธิจาก 13 ล้านคน เป็น 18-20 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 35-50% แต่การจัดการกองทุนประชารัฐสวัสดิการ พบว่ามีการเพิ่มงบเพิ่มเพียง 18% โดยทางหน่วยงานชี้แจงว่า จะไปเอางบจากงบกลาง

ตัวอย่างที่สอง คืองบจัดการเลือกตั้ง ถ้านายกฯ ตัดสินใจลาออก และยุบสภาในวันนี้ ตนจะไม่ติดใจหากจะใช้งบกลางมาจัดการเลือกตั้ง เพราะผ่านมา 8 ปี เราต้องยอมรับว่า การที่ท่านจะตัดสินใจลาออกก็นับว่าเป็นปาฏิหาริย์ เป็นปรากฏการณ์เหนือการคาดการณ์ แต่ตนไม่เข้าใจว่า สภาชุดนี้จะครบวาระในช่วงเดือน มี.ค.66 จะมีเหตุผลอะไรทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงบประมาณ ไม่ตั้งงบสำหรับการเลือกตั้งในปี 66 หรือว่าท่านรู้อะไรที่ตนไม่รู้ว่าปีหน้า จะไม่มีการเลือกตั้งตามวาระ ตนจึงถามหน่วยงานว่า จะนำเงินมาจากไหนจัดเลือกตั้ง คำตอบที่ได้คืองบกลาง ซึ่งเป็นคำตอบที่ดีกว่าไม่รู้ๆ สักเล็กน้อย แต่ในอนาคตหากทุกหน่วยงานตั้งงบไม่รอบคอบเช่นนี้ หวังไปพึ่งงบกลางในดาบหน้า ต่อให้นำงบกลางของพล.อ.ประยุทธ์ทั้ง 8 ปี มารวมกันก็คงไม่พอ การตั้งงบกลางสูงอาจจะทำให้สบายใจ แต่ถ้าตั้งไว้สูงแล้วทำให้หน่วยงานชะล่าใจว่าถ้าตั้งงบไม่พอก็ขอจากงบกลางได้เรื่อยๆ สุดท้ายจะมีงบไม่พอสำหรับกรณีฉุกเฉิน

ส่วนนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปราย ว่าขอปรับลดงบกลาง 20% เพราะไม่น่าจะสอดคล้องกับความจำเป็นเร่งด่วน ฉุกเฉิน เป็นที่รู้และกังวลว่าเป็นงบที่ตรวจสอบยาก เป็นงบที่มีการเปิดช่องให้รั่วไหลมาที่สุด เพราะดูแล้วครบวงจร เมื่อประมาณปี 61 นายกฯ ไปแก้กฎหมายระเบียบวินัยการเงินการคลัง ไปเพิ่มอำนาจให้ตัวเองในการอนุมัติงบกรณีฉุกเฉินและจำเป็นมากขึ้น ทั้งที่จริงๆ แล้วเมื่อบ้านเมืองโปร่งใสยิ่งต้องแก้ให้อำนาจลดลง ให้เข้าสู่ระบบ ซึ่งในการจัดงบประมาณปีก่อนๆ และปีนี้ การจัดงบกลางเพียงแต่ตั้งเป็นก้อนกลมๆมา โดยไม่มีรายละเอียดให้ ทำให้การตรวจสอบทำได้ยาก เมื่อ กมธ.ติดตามงบประมาณ สภาฯ ไปดูการใช้งบและขอเอกสาร ก็ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือมีการปกปิดข้อมูลและไม่ให้รายละเอียด ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใส มีเงื่อนงำ ดูได้จากการที่นายกฯ อนุมัติงบกลางไปให้มหาวิทยาลัย 2-3 แห่งไปทำวิจัย โดยการอ้างโควิด ไม่ทราบว่าการวิจัยฉุกเฉิน จำเป็นอย่างไร เพราะกลัวผลวิจัยจะออกมาต้องใช้เวลาเป็นปี จึงไมมีเหตุผลที่ใช้งบกลางให้กับการวิจัย เป็นการซ้ำซ้อนกับงบของกระทรวง ที่เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่ ที่สำคัญไปกระจุกอยู่ในบางมหาวิทยาลัย

“จึงเป็นการจัดงบฯ ที่ไม่ตอบโจทย์ของประชาชน ไม่ได้เร่งด่วน ฉุกเฉินจริงๆ ที่เจ็บปวดกว่านั้นคือไปพบว่า ได้กลิ่นการทุจริต จึงขอย้ำว่าการใช้งบกลาง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีปัญหา ทำให้เราคลางแคลงใจตลอด หากปีนี้ให้งบกลางไปอีก ยิ่งเป็นปีที่เข้าสู่การเลือกตั้ง ก็คิดไปได้ทั้งนั้นว่าจะเอาไปทำอะไร ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ประชาชนจริงๆ” นายสุทิน กล่าว