นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ดีอีเอส ได้จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ภาคตะวันออก ซึ่งกิจกรรมนี้ ได้มีการจัดต่อเนื่องทุกปี ครอบคลุม 4 ภูมิภาคในประเทศไทย เพื่อสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาคประชาสังคม และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการทำงานขับเคลื่อนการตรวจสอบเฝ้าระวังการเผยแพร่ข้อมูลเนื้อหา และข่าวสารบิดเบือนที่เผยแพร่อยู่บนอินเทอร์เน็ต

“จากบริบทในปัจจุบัน ที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและโซเชียลอย่างกว้างขวาง ทำให้บางกลุ่มนำไปเป็นช่องทางบิดเบือนและเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นข่าวปลอม หรือทำกิจกรรมที่ส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน การทำงานร่วมกับเครือข่ายจึงมีความสำคัญ เพราะจะช่วยเป็นหูเป็นตา และหากหากพบว่ามีเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย เช่น พนันออนไลน์ ลามกอนาจาร หมิ่นสถาบัน ละเมิดลิขสิทธิ์ และเข้าข่ายผิดกฎหมายอาหารและยา กระทรวงดีอีเอสจะดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายเป็นผู้ยื่นเรื่องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปิดกั้นหรือลบข้อมูล”

สำหรับประชาชน หากพบเบาะแสหรือปัญหาเกี่ยวกับการหลอกลวงออนไลน์ และภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถแจ้งมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 หรือสายด่วน 1441 ของตำรวจไซเบอร์ และสามารถแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี www.thaipoliceonline.com

สำหรับกิจกรรมสร้างการรับรู้ฯ ในปีนี้ เน้นเจาะจงกลุ่มเป้าหมายให้ตรงประเด็นการสื่อสารเกี่ยวกับข่าวปลอม ได้แก่ กลุ่มวิทยุอาสาสมัครสมาสมาคมวิทยุสื่อสาร กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อช่วยต่อยอดในการขยายผลสร้างการรับรู้ รู้เท่าทัน รู้วิธีสังเกตข่าวปลอม และช่องทางการแจ้งเบาะแส

“กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรม จะเป็นเครือข่ายในขับเคลื่อนการตรวจสอบเฝ้าระวังการเผยแพร่ข้อมูลเนื้อหาและข่าวสารที่เผยแพร่อยู่ในอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะข้อมูลที่บิดเบือนและปัญหาข่าวปลอม อันจะช่วยภาครัฐสามารถชี้แจงทำความเข้าใจ และเผยแพร่ความถูกต้องให้กับประชาชน มุ่งหวังให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย” นายทศพล กล่าว

ขณะเดียวกัน กระทรวงดีอีเอส  และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ยังได้ร่วมงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ประกอบด้วย ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง (ANSCOP) (ศตปค.ตร.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ระดมทุกกลยุทธ์เพื่อให้ประชาชนคนไทยรู้เท่าทันสื่อลวง ทั้งในแง่ของการจัดการกับข่าวปลอม และการปราบปรามดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย กรณีเป็นการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมฯ จะเป็นการสร้างเครือข่ายและกลไกในพื้นที่ ในการตรวจสอบ แจ้งเบาะแส และที่สำคัญช่วยเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจ โดยจะได้รับทราบกระบวนการตรวจสอบข่าวปลอมได้ด้วยตนเอง วิธีเช็กแหล่งที่มา วิธีสังเกตหัวข้อพาดหัวข่าว และช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม