นายจักรพันธ์ จารุวัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว เปิดเผยว่าจากอิทธิพลของพายุหมาอ๊อน และร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณฝนตกชุกต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร รวมทั้งพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง โดยเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่สถานีวัดน้ำ W.4A แม่น้ำวัง อ.สามเงา จ.ตาก มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 511.50 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำปิง ที่สถานี P.7A อ.เมือง จ.กำแพงเพชร มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 477.90 ลบ.ม./วินาที และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนทำให้ระดับน้ำไหลข้ามฝายชั่วคราววังบัว สูง 1.09 เมตร ประกอบกับสภาพลำน้ำด้านเหนือของฝายชั่วคราววังบัว มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการตกตะกอนทับถมบริเวณด้านเหนือ ส่งผลต่อการไหลของน้ำผ่านสันฝายจนเกิดการกัดเซาะตัว ทำให้ฝายชั่วคราววังบัวบริเวณฝั่งตำบลเทพนคร อ.เมืองกำแพงเพชร ตั้งแต่ กม.0+170 – กม.0+210 เกิดการชำรุดขนาดกว้างประมาณ 40 เมตร เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถรับน้ำเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่วังบัว เพื่อส่งน้ำให้กับเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวต่อเนื่อง พื้นที่ประมาณ 145,351 ไร่ ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัวได้ ในเบื้องต้นได้ประสานไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง ขอสนับสนุนน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกข้าวดังกล่าว ผ่านคลองชักน้ำสาย 2R-MC ในอัตรา 20 ลบ.ม./วินาที เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตร

สำหรับแนวทางการซ่อมแซมปรับปรุงฝายชั่วคราววังบัวให้มีความมั่นคงแข็งแรงนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางในการซ่อมแซมระยะเร่งด่วนและปรับปรุงฝายในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัวและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง
สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 425,841 ไร่ ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 278,054 ไร่ ยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกประมาณ 147,787 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดในกลางเดือนตุลาคม 2565 จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีและเก็บเกี่ยวแล้ว ขอให้งดการทำนาปีต่อเนื่อง หากจะดำเนินการปลูกข้าวต่อเนื่อง ให้พิจารณาวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในแหล่งน้ำสำรอง ในพื้นที่ของตนเองเป็นหลัก เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานจะมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นหลัก ซึ่งมีศักยภาพการระบายอยู่ที่ 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ปัจจุบันระบายอยู่ที่ 1,678 ลบ.ม.ต่อวินาที จึงมีช่องว่างการระบายน้ำออกทะเลอยู่อีกมากและเป็นเส้นทางที่ตรงและเร็วที่สุด กรมชลฯ จะยังไม่มีการระบายน้ำผ่านไปทางแม่น้ำบางปะกงหรือแม่น้ำท่าจีน ยกเว้นเพื่ออุปโภค บริโภคและรักษาระบบนิเวศน์เท่านั้น นอกจากนั้นได้ให้สำนักชลประทานทุกพื้นที่ประสานกับเกษตรกรเพื่อให้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ครบรอบการผลิตให้ทันต่อช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และข้อห่วงใยของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ให้บริหารสถานการณ์ไม่ให้มีผลกระทบต่อเกษตรกรหรือมีผลกระทบให้น้อยที่สุด
สำหรับในพื้นที่น้ำท่วมขังจากปริมาณฝนตกชุกในพื้นที่ต่างๆ นั้น ได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล ระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำเพื่อช่วยเกษตรกร และประชาชนที่ประสบน้ำท่วมขัง เช่น สำนักชลประทานที่ 4 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำท่วมขังในชุมชนและพื้นที่การเกษตรใน ต.ยกกระบัตร อ.สามเงา จ.ตาก สำนักชลประทานที่ 12 ได้เร่งสูบน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่นาข้าวของเกษตรกร ในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี อ.เมืองอ่างทอง และที่จังหวัดปราจีนบุรี สำนักชลประทานที่ 9 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง สูบน้ำท่วมขังบริเวณโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หลังจากฝนตกต่อเนื่องส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสูงขึ้นเข้าท่วมพื้นที่ ขณะที่สำนักชลประทานที่ 11 ปทุมธานี ได้มีการตรวจสอบความพร้อมในการใช้งานของสถานีสูบน้ำ และให้พร่องน้ำในคลองสาขาเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนในระยะต่อไป