เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความลงบล็อกส่วนตัว ชื่อ “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” พร้อมทั้งระบุถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยว่า อาจจะมีผู้ติดเชื้อทะลุ 1 ล้านรายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีเนื้อหาว่า “แนวโน้มโควิด-19 ของไทย มีโอกาสติดเชื้อครบ 1 ล้านราย และเสียชีวิตครบ 1 หมื่นราย ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

จากสถานการณ์โควิดระบาดในประเทศไทย ต่อเนื่องกันมาสามระลอกนั้น จะพบว่าระลอกที่หนึ่งติดเชื้อ 4,000 ราย เสียชีวิต 60 ราย เป็นไวรัสสายพันธุ์หลักเดิม ระลอกที่สอง ติดเชื้อ 24,000 ราย เสียชีวิต 34 ราย เป็นไวรัสสายพันธุ์หลักเดิมเช่นกัน ระลอกที่สาม ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 1 เมษายน 2564 เป็นไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่าและตามด้วยไวรัสสายพันธุ์เดลต้าซึ่งแพร่ระบาดได้รวดเร็ว

วันที่ 10 สิงหาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสมระลอกที่สาม 767,088 ราย เสียชีวิตสะสมระลอกที่สาม 6494 ราย ถ้าคิดเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมดคือ 795,951 ราย ขาดอีก 204,049 ราย ก็จะครบ 1 ล้านราย เมื่อนำวันที่เหลือก่อนจะถึงสิ้นเดือนนี้ 21 วัน ไปหาค่าเฉลี่ย ก็พบว่าถ้ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 9,716 ราย จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเกินกว่า 1 ล้านราย

ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมระลอกสาม 6,494 ราย สะสมทั้งหมด 6,588 ราย ขาดอีก 3,412 รายก็จะครบ 1 หมื่นราย หรือเพิ่มอีกวันละ 162 ราย สรุปว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลต้ามีความสามารถในการแพร่ระบาดกว้างขวางและรวดเร็วมาก มากกว่าไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า 60% และมากกว่าสายพันธุ์เดิมกว่าเท่าตัว จึงทำให้การติดเชื้อทั่วโลก มีอัตราเร่ง และอัตราผู้เสียชีวิตสูงเป็นเงาตามตัว

สำหรับประเทศไทยของเรา ถ้ามีผู้ติดเชื้อเกินกว่าวันละ 9,716 ราย ต่อเนื่องกันไปถึงสิ้นเดือนนี้ ผู้ติดเชื้อสะสมจะเกิน 1 ล้านราย และจำนวนผู้เสียชีวิต ถ้าเพิ่มเกินกว่าวันละ 162 ราย จะมีผู้เสียชีวิตสะสมเกินกว่า 1 หมื่นราย

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขดังกล่าวจะดูว่ามีค่อนข้างมาก แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรป ซึ่งมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน เช่น อังกฤษและฝรั่งเศส ก็จะพบว่าตัวเลขของประเทศไทย ยังดีกว่ามาก เพราะอังกฤษและฝรั่งเศสติดเชื้อไปแล้วประเทศละ 6 ล้านราย และเสียชีวิตไปแล้วประเทศละกว่า 1 แสนราย

โดยฝรั่งเศส ติดเชื้อ 6,310,933 ราย เสียชีวิต 112,288 รายประชากร 65.43 ล้านคน ส่วนอังกฤษติดเชื้อ 6,094,243 ราย เสียชีวิต 130,357 ราย ประชากร 68.27 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับของประเทศไทยติดเชื้อ 795,951 ราย เสียชีวิต 6588 ราย ประชากร 69.99 ล้านคน Reference ศูนย์ข้อมูล โควิด-19”..

ขอบคุณข้อมูลประกอบ : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย