เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตร. กล่าวว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่ามีการตรวจพบข่าวปลอมเพิ่มเติม 1 กรณี คือ กรณีตำรวจเอาประทัดยักษ์ยัดใส่มือม็อบ บังคับให้กำประทัดจนแตกใส่มือนั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบกับกองบัญชาการตกรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม

โดยทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า วันที่ 11 ส.ค.2564 ได้มีผู้ชุมนุมชื่อว่า ม็อบทะลุฟ้า มาชุมนุมกันที่บริเวณ แยกดินแดง เขตดินแดง ได้มีนายเอ (นามสมมุติ) อายุประมาณ 14 ปีเศษ สวมใส่เสื้อช็อปอาชีวะได้จุดประทัดยักษ์ แต่เกิดพลาดระเบิดใส่มือข้างซ้ายของตนเองทำให้ได้รับบาดเจ็บ

เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เอาประทัดยักษ์ยัดใส่มือแต่อย่างใด ปัจจุบันถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตรวจสอบที่โรงพยาบาลฯพบว่า ได้นอนรักษาตัวอยู่ที่ห้อง ICU และแพทย์ได้ทำการตรวจหาเชื้อโควิด–19 ผลการตรวจเบื้องต้นพบว่า ติดเชื้อโควิด–19

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.metro.police.go.th/ หรือโทร. 0-2282-8209

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เอาประทัดยักษ์ยัดใส่มือแต่อย่างใด หนึ่งในผู้ชุมนุมเป็นผู้จุดประทัดยักษ์เองแต่เกิดพลาดระเบิดใส่มือข้างซ้ายของตนทำให้ได้รับบาดเจ็บ ปัจจุบันถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี และรักษาตัวอยู่ที่ห้อง ICU

รองโฆษกตร. กล่าวอีกว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์@AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”