พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นองค์ประธาน ในการเปิดโครงการกำลังใจ ณ เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นแห่งที่ 18 ของการเปิดโครงการกำลังใจ โดยมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเฝ้ารับเสด็จ และกราบทูลรายงานความเป็นมาของการเปิดโครงการกำลังใจ ณ เรือนจำจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย ศ.พิเศษ วิศิษฏ์  วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, ศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์, ประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ, สมพงศ์ สนิทมัจโร ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนราธิวาส, พิทยา จินาวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักกิจการในพระดำริฯ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, กำจัด พ่วงสวัสดิ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ปรึกษาสำนักกิจการ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชร กิติยาภา พร้อมข้าราชการและเจ้าหน้าที่เรือนจำ จ.นราธิวาส เฝ้ารับเสด็จ

ในการนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเปิด “ลานกำลังใจ” บริเวณหน้าเรือนจำ สำหรับการเยี่ยมญาติ ที่มีการจัดภูมิทัศน์ให้เกิดความสะดวกสบายต่อการรอเยี่ยมผู้ต้องขัง จากนั้นได้ทรงปลูกต้นรวงผึ้งจำนวน 1 ต้น โดยต้นรวงผึ้งเป็นต้นไม้ประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนเสด็จเข้าไปในแดนหญิงเพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการการพัฒนาสุขภาวะของผู้ต้องขัง, นิทรรศการโครงการส่งเสริมพลังอำนาจผู้ตัดสินกับผู้ถูกตัดสิน และการฝึกอาชีพศาสตร์พยากรณ์โดยไพ่ยิปซี

ระหว่างเสด็จทอดพระเนตรการดำเนินกิจกรรมภายในแดนหญิง อาทิ มุมละหมาด, เสริมสวย, เบเกอรี่, ครัวอาหารตามสั่ง และร้านสวัสดิการ ทรงลงพระนามในพระฉายาลักษณ์ที่มุมปลูกกฎหมายใส่ปัญญา ทรงร่วมเพนต์รูปหัวใจสัญลักษณ์โครงการกำลังใจลงบนเสื้อยืดสีขาว ในบูธสาธิตการเพนต์ การปักผ้าปาเต๊ะและผ้าฮิญาบ์ และประทานถุงของขวัญแก่แม่และเด็ก ก่อนเสด็จทอดพระเนตรการฝึกวิชาชีพ เช่น ซ่อมรองเท้า, ชงชาชัก, การทำขนมไทย, การแทงหยวกกล้วย และการฝึกอาชีพงานไม้ (เรือกอและ) ทรงเพ้นต์ลายโลโก้กำลังใจบนเรือกอและ

ต่อมาเสด็จยังเวทีการแสดง เพื่อทรงรับฟังการสวดดูอาห์ถวายพระพร ทอดพระเนตรการแข่งขันชงชาชัก และทรงร่วมให้คะแนนผู้เข้าร่วมการแข่งขัน พร้อมทั้งประทานรางวัล  รวมถึงทอดพระเนตรการแสดงจากผู้ต้องขัง โอกาสนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานไก่ทอด (อะยัมบอย), ผ้าละหมาดและชุดละหมาด (หมวก ผ้านุ่ง เสื้อ) ให้ตัวแทนผู้ต้องขังในการประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม และชุดปฏิบัติธรรมให้ตัวแทนผู้ต้องขังศาสนาพุทธ ต่อด้วยทอดพระเนตรการแสดงของศิลปินวงพัทลุงที่มาสร้างกำลังใจให้ผู้ต้องขัง ก่อนจะเสด็จกลับในเวลาต่อมา

สำหรับเรือนจำจังหวัดนราธิวาส เป็นเรือนจำที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรือนจำที่ควบคุมผู้ต้องขังชายและหญิง โดยมีแดนหญิงอยู่ในเรือนจำ ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 1,949 คน แยกเป็นชาย 1,819 คน หญิง จำนวน 130 คน โดยแบ่งเป็นผู้ต้องขังชายที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวน 1,709 ราย นับถือศาสนาพุทธจำนวน 110 ราย ผู้ต้องขังหญิงนับถือศาสนาอิสลามจำนวน 110 ราย นับถือศาสนาพุทธจำนวน 20 ราย ทำให้เป็นเรือนจำที่มีความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม

​อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยปริมาณผู้ต้องขังในเรือนจำ มีมากกว่าความจุตามมาตรฐานโดยความจุตามมาตรฐานของแดนชายจะต้องมีความจุตามมาตรฐาน 491 รายและแดนหญิงจำนวน 26 ราย ซึ่งเมื่อคิดตามจำนวนผู้ต้องขังในปัจจุบันเทียบกับความจุตามมาตรฐานพบว่าเกินมาตรฐาน 3.7 เท่า ซึ่งจากปริมาณของผู้ต้องขังที่มีเกินมาตรฐานรวมทั้งพื้นที่ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มีจำกัด ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาวะกับผู้ต้องขังโดยในปี 2560 พบว่า มีผู้ต้องขังป่วยเป็นโรคต่าง ๆ เช่น ชายเป็นหิด กลากเกลื้อน โลน ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ต้องขังชายทั้งหมด และหญิงเป็นเหา ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ต้องขังทั้งหมด นอกจากนี้พบว่า ชายและหญิงเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 800 คน ของผู้ต้องขังทั้งหมด นอกจากนี้ในด้านสภาพแวดล้อมพบว่า ที่นอนไม่เพียงพอต้องต่อเติมเป็น 2 ชั้น ขนาดโรงเลี้ยงรองรับผู้ต้องขังได้ 300 คน จึงต้องรับประทานอาหารเป็นรอบ และพื้นที่ตากผ้ามีไม่เพียงพอ เป็นต้น

​เมื่อพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงทราบถึงข้อจำกัดของเรือนจำ ประทานคำแนะนำเพื่อให้ผู้ต้องขังมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อาทิ การตรวจวัณโรค, การตรวจเอ็กซเรย์ปอด, การทำความสะอาดใหญ่ และการจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ (อสร.) โดยมีวิทยากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ให้ความรู้ในหลักสูตรการอบรมตามมาตรฐานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

รวมถึงประทานคำแนะนำในเรื่องการฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขัง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ซึ่งประเภทของอาชีพที่ประทานคำแนะนำ เช่น การซ่อมรองเท้า การดูดวงด้วยไพ่ยิปซี การชงชาชักและโรตี การซ่อมแซมเสื้อผ้า การสอนแต่งหน้าและเสริมสวยซึ่ง ล้วนเป็นอาชีพที่สามารถประกอบอาชีพด้วยตนเองเมื่อพ้นโทษ ถือเป็นพระกรุณาธิคุณที่ทรงทราบถึงวิถีและธรรมชาติของผู้ต้องขัง ที่ชอบการทำงานที่เป็นอิสระมากกว่าการไปรับจ้างทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ.