เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 6 พ.ย. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ นายกรีพงศ์ เทียมเศวต (สรพงศ์ ชาตรี) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ณ เมรุชั่วคราว มูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมตตาบารมี อำเภอสีคิ้ว
สำหรับประวัติของ นายนายกรีพงศ์ เทียมเศวต (สรพงศ์ ชาตรี) เกิดที่อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีชื่อจริงว่า พิทยา เทียมเศวต ภายหลังเปลี่ยนเป็น กรีพงษ์ เทียมเศวต ส่วน สรพงศ์ ชาตรี เป็นชื่อที่ใช้ในการแสดง ผู้ตั้งให้คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ และหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา โดยคำว่า “สร” มาจาก อนุสรมงคลการ, “พงศ์” มาจาก สุรพงศ์ โปร่งมณี (ผู้พามาฝากตัวกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม) และ “ชาตรี” มาจาก ชาตรีเฉลิม เนื่องจากเมื่ออายุได้ 19 ปี และได้พบกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งชักชวนให้มาอาศัยอยู่ที่วังละโว้ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ เริ่มงานแสดงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2512 เป็นตัวประกอบ และเป็นเด็กยกของในกองถ่ายละครเรื่อง “นางไพรตานี” ฉายทางช่อง 7 และเล่นเป็นตัวประกอบในละคร “ห้องสีชมพู” และ “หมอผี” ซึ่งหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นผู้กำกับ หลังจากเดินทางกลับจากเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา
ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์เรื่อง “สอยดาว สาวเดือน” เมื่อ พ.ศ. 2512 รับบทเป็นลูกน้องนักเลงที่มีเรื่องกับ ชนะ ศรีอุบล ที่รับบท สมิง ซึ่งเป็นพระรองของเรื่องในร้านเหล้า โดยที่ออกมาฉากเดียวและไม่มีบทพูด และถูกสมิงยิงตาย จากนั้นในภาพยนตร์เรื่องที่ 2 คือเรื่อง “ต้อยติ่ง” ในปีเดียวกัน ยังคงรับบทเป็นตัวประกอบที่ออกมาฉากเดียวในช่วงท้ายเรื่อง และไม่มีบทพูดเช่นเคย และ ภาพยนตร์เรื่องที่ 3 คือเรื่อง “ฟ้าคะนอง” เมื่อ พ.ศ. 2513 ยังคงรับบทเป็นตัวประกอบที่ออกมาฉากเดียวแต่เริ่มมีบทพูด โดยรับบทเป็น ผู้โดยสารรถสองแถวคันเดียวกับนางเอก คือ “ภาวนา ชนะจิต” ที่ต้องการเดินทางไปหาดฟ้าคะนอง
กระทั่งได้รับบทพระเอกเต็มตัวครั้งแรก ในภาพยนตร์เรื่องที่ 4 คือเรื่อง “มันมากับความมืด” (พ.ศ. 2514) ผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม จากนั้นได้รับบทในภาพยนตร์ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม แทบทุกเรื่อง ทั้งบทพระเอก พระรอง และเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในบางครั้ง มีผลงานแสดงกว่า 500 เรื่อง
สรพงศ์ มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในช่วงปลายยุค 70 ถึงกลางยุค 80 ได้รางวัลตุ๊กตาทองครั้งแรกจากเรื่อง ชีวิตบัดซบ และ สัตว์มนุษย์ สองปีติดต่อกัน และมีชื่อเสียงในต่างประเทศจากเรื่อง แผลเก่า (พ.ศ. 2520) นับว่าประสบความสำเร็จสูงสุด และยังได้รับรางวัลทางการแสดงจากหลายสถาบัน เช่น รางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี” ดารานำชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง สัตว์มนุษย์, ชีวิตบัดซบ, มือปืน, มือปืน 2, สาละวิน, เสียดาย 2 รางวัลสุพรรณหงส์ ดารานำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง “ถ้าเธอยังมีรัก, มือปืน และนักแสดงประกอบชายจากเรื่อง องค์บาก 2 ส่วน รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง” นักแสดงชายยอดเยี่ยมจากเรื่อง มือปืน 2, สาละวิน และได้รับเลือกเป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง” (นักแสดงภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ในปี พ.ศ. 2551
สรพงศ์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.) ใน พ.ศ. 2524 และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.) พ.ศ. 2552