การจัดกิจกรรม “World Youth Festival Bangkok 2022” (เวิลด์ ยูธ เฟสติวัล แบงค็อก 2022) เทศกาลยุวทูตเยาวชนจาก 21 ประเทศ 5 ทวีปทั่วโลก และเจ้าหน้าที่ รวมกว่า 2,000 คน ร่วมเข้าแคมป์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกีฬา และการศึกษา โดยความร่วมมือของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) ร่วมกับ United Through Sports (UTS) องค์กรนานาชาติที่ไม่แสวงหาผลกำไร จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.65 ซึ่งตรงกับช่วงระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 (APEC) ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ย. เป็นกิจกรรมวันที่ 2 ในหัวข้อการประชุมเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬา โดยได้มีการจัดเวิร์กช็อปให้ความรู้กับยุวทูตเยาวชนหลายด้าน ประกอบด้วย 1 ยูเนสโกกีฬา และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นำเสนอโดยผู้นำรุ่นเยาว์ ควินทารา นาบิญา, ดร.มาร์กัซ อิโนแคนโด และ ดร.คิม เอ็นเซล จากยูเนสโก, 2 ITA กีฬาสะอาดและอนาคตที่ดี กล่าวต้อนรับโดย วิโทลด์ บันกา ประธานองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) และ เบนจามิน โคเฮน ผู้อำนวยการ International Testing Agency (ITA)

3 Angle City Sport ความน่าสนใจของครอบครัวที่ก่อตั้ง LA Non-profit ให้โอกาสเล่นกีฬาที่ปรับเปลี่ยนได้, 4 Mission 89 การค้ามนุษย์ และพิทักษ์เยาวชน และความปลอดภัยด้านกีฬา นำเสนอโดยผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร Lerina Bright และ Daniele Canepa, 5 Yunus Sports Hub การสร้างอนาคตทางเศรษกิจ และสังคมที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งผู้ประกอบการโดยผ่านทางกีฬา โดย โยโค ยุสซุฟ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ และ CCO Rahul Bissoonauth และ 6 ผู้นำเยาวชน IOC คุณค่าทางโอลิมปิก และทักษะชีวิต โดย เอ็มม่า เทอร์โฮ ประธานคณะกรรมการนักกีฬาของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC)

นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อป UNESCO-Fit For Life โปรแกรมกีฬาของยูเนสโก เพื่อสนับสนุนการรวมตัว และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของเยาวชน ตามด้วย JU-JITSU FOR GOOD โดยมูลนิธิยูยิตสู เกี่ยวกับโครงการป้องกันการใช้ความรุนแรง “Not with me” มุ่งเน้นที่การป้องกัน และการยืนหยัดด้วยตนเอง ช่วยให้เยาวชนมีความมั่นใจ มีบุคลิกที่เข้มแข็ง โดย มิเชล เคิร์น รองประธาน German Ju-Jitsu European Union และทอม อิสเมอร์ เลขาธิการเยาวชน German Ju-Jitsu Federation และเวิร์กช็อป SHEFIGHTER โดยผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ ลินา คาลิเฟห์ แบ่งปันพลังกีฬาเพื่อเปลี่ยนชีวิต และส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถป้องกันตัวได้ทั่วโลก

ก่อนจะปิดท้ายในช่วงเย็นกับกิจกรรม #MOVENOW ACIVAON โดยคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (IPC) โดยจัดขึ้นเพื่อต้องการมุ่งเน้นให้เยาวชนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมใหม่ และส่งท้ายกับมหกรรมกีฬา และกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรม เพื่อเป็นการเผยแพร่กีฬาไทย และวัฒนธรรมไทยให้กับยุวทูตเยาวชนที่เข้าร่วมจัดกรรมตลอดทั้งวัน โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เปิดเผยว่า เวิลด์ ยูธ เฟสติวัล ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก โดยก่อนหน้าในช่วงโควิด-19 รัฐบาลไทยได้จัดขึ้นในรูปแบบเวอร์ชวล และเราก็ส่งต่อไปให้ประเทศซาอุดีอาระเบีย ก่อนได้สานสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นตนเองได้ไปส่งมอบธงให้ซาอุดีอาระเบียจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ทำให้ครั้งนี้เจ้าหญิงแห่งซาอุดีอาระเบีย เสด็จนำเยาวชนมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ที่ไทย พร้อมส่งมอบธงต่อให้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย

“ถือว่าเป็นความคาดหวังที่เหลือเชื่อ และขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้โอกาสกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินกิจกรรมนี้ร่วมกับ United Through Sports รวมทั้งต้องขอบคุณสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยที่ส่งนักกีฬามาร่วมมือ และร่วมใจกัน ทำให้กิจกรรมจัดออกมาได้อย่างยิ่งใหญ่”

ดร.สุปราณี กล่าวอีกว่า กิจกรรมนี้ถือเป็นการผลักดันไทยกับการยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬายูธ โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2569 (ค.ศ. 2026) โดยงานนี้ถือเป็นการพิสูจน์ว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลก และสหพันธ์กีฬาต่างๆ หลายชนิดกีฬาร่วมเข้ามา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการพัฒนาเรื่องการส่งเสริมเยาวชนในสมัยที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รวมถึง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ และ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ได้ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อให้ไทยเราสามารถบิดเจ้าภาพยูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งต่อไปได้.