เมื่อวันที่ 20 ส.ค. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ระบุว่า จุดประสงค์ที่คนไทยทุกคนน่าจะต้องการเหมือนกันคือ ใช้วัคซีนทุกชนิดที่อยู่มีอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อตาย (ที่มีจำนวนมากที่สุดขณะนี้) หรือวัคซีนยี่ห้ออื่น (ถ้ามีพอ) มาครอบคลุมให้ได้มากที่สุด ในเวลาอันรวดเร็ว และได้กำไรเพิ่มจากภูมิคุ้มกันที่เพิ่มสูงขึ้นไปอีก และกำไรอีกต่อคือครอบคลุมสายพันธุ์ เช่น เดลต้า ได้

การฉีดเข้าชั้นผิวหนังตั้งแต่ต้น โดยทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นเร็วที่สุดภายใน 14 วันแรก และปิดช่องโหว่ ที่จะมีการติดเชื้อหลังเข็มที่หนึ่งที่ปรากฏมาตลอด ดังนั้นใช้ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม เข้าชั้นผิวหนังได้เลย เช่นวันที่ 0 3 และ 7 (ครั้งละ 0.1 ซีซี) ซึ่งโดยปกติฉีดเข้ากล้ามครั้งละ 0.5 ซีซี วันที่ศูนย์และวันที่ 30 นั่นคือ ใช้รวม 0.3 ซีชี แบบเข้าชั้นผิวหนัง เทียบกับ 1 ซีซีเข้ากล้ามเนื้อ โดยแบบเข้ากล้าม 10 ล้านโด๊ส ใช้ได้ 5 ล้านคน จะกลายเป็น ใช้ได้ มากกว่า 30 ล้านคน ถ้าฉีดเข้าชั้นผิวหนัง!!!!

และจากนั้นสามารถฉีดกระตุ้นด้วย ยี่ห้ออื่นที่ต้องไม่ใช่ ซิโนแวค ซิโนฟาร์มเข้าชั้นผิวหนังเพียง 0.1 ซีซี ครั้งเดียว จะได้กำไรเพิ่มขึ้น ทั้งในการพยุงให้ระดับภูมิคุ้มกันลอยสูงขึ้น และกำไรอีกต่อคือข้ามสายพันธุ์ เช่น เดลต้าได้ ทราบว่าหลายสถาบันมีการศึกษาแต่ปฏิบัติเลยเก็บข้อมูลเลยได้ประโยชน์ทันทีเลย ขออย่ารอช้าเลยครับ

นพ.ธีระวัฒน์ ยังได้แสดงความเห็นอีกว่า ตอนนี้ตรงกันแทบหมดแล้วครับ หลายสถาบันเริ่มทำการฉีดเข้าชั้นผิวหนังแต่ข้อสำคัญก็คือ กว่าจะเริ่มทำกว่าจะเก็บข้อมูล กว่าจะสรุป อาจต้องใช้เวลาถึงสามเดือน ซึ่งถ้าต้องรอถึงขนาดนั้นเราคงเสียหายมากมายครับ.