สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ว่า ทวิตเตอร์ประกาศการระงับบัญชีผู้ใช้งานใดก็ตาม ซึ่งสร้างขึ้น “ด้วยมีวัตถุประสงค์เดียว” คือเพื่อสนับสนุนหรือโน้มน้าวให้ผู้ติดตาม ไปติดตามเจ้าของบัญชีบนอีกแพลตฟอร์ม ตลอดจนการประชาสัมพันธ์เครือข่ายสังคมออนไลน์อื่น และเนื้อหาที่มีลิงก์ หรือผู้ใช้แพลตฟอร์มต่อไปนี้ “เฟซบุ๊ก” “อินสตาแกรม” “มาสโตดอน” “ทรูธ โซเชียล” “ไทรเบิล” “นอสตร์” และ “โพสต์”
ทั้งนี้ ทวิตเตอร์ยืนยันว่า นโยบายดังกล่าวไม่ได้หมายถึง การห้ามแบ่งปันเนื้อหาจากแพลตฟอร์มอื่น ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า บริการ “ติ๊กต็อก” ซึ่งบริษัทไบต์แดนซ์ของจีนเป็นเจ้าของ ไม่ได้อยู่ในรายชื่อ และมาตรการนี้ของทวิตเตอร์ เกิดขึ้นหลังการยุบคณะที่ปรึกษาภายนอก ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2559 เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารของทวิตเตอร์ เกี่ยวกับการตัดสินใจด้านนโยบายความปลอดภัยและที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน
อนึ่ง สถานการณ์ของทวิตเตอร์เป็นไปอย่างวุ่นวาย และเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมากมาย นับตั้งแต่นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีนักธุรกิจอันดับต้นของโลก ซื้อกิจการเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ด้วยราคา 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.53 ล้านล้านบาท) โดยเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มัสก์เพิ่งคืนสถานะบัญชีผู้ใช้งาน ให้กับผู้สื่อข่าวชั้นนำหลายคนของสหรัฐและยุโรป หลังระงับไปนาน 1 วัน ด้วยเหตุผลว่า บัญชีเหล่านี้รีทวีตหรือโควตข้อมูล เกี่ยวกับการเดินทางแบบเรียลไทม์ ของมัสก์และสมาชิกในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติ (ยูเอ็น) และสหภาพยุโรป (อียู) ต่างออกแถลงการณ์ “แสดงความวิตกกังวล” ต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนนี้ เดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ส เสนอรายงานโดยอ้างเป็นข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในอียู ว่า นายตีแยรี เบรตอง ข้าหลวงด้านการกำกับดูแลตลาดภายในของอียู กล่าวว่า ทวิตเตอร์ “อาจถูกแบน” หรือ “ต้องชำระค่าปรับจำนวนมหาศาล” หากละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องของอียู หลังมัสก์วิจารณ์กฎหมายบริการดิจิทัลของสหภาพ.
เครดิตภาพ : REUTERS