นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 66 กระทรวงคมนาคม มีแผนเสนอ 9 โครงการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.), 2. โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. 3. โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84  กม., 4.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม., 5.โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม.

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า 6.โครงการรถไฟทางคู่ ระยะ(เฟส) ที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม., 7.โครงการรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม., 8. โครงการรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. และ 9.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 หรือ M6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. โดยจะเสนอขออนุมัติกรอบค่างานก่อสร้างทั้ง 16 ตอน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 6,700 ล้านบาท โดยยังอยู่ในกรอบวงเงินที่ ครม. ได้เห็นชอบเมื่อปี 58

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า โครงการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องทำตามแผนปฏิบัติการ (แอ๊คชั่นแพลน) และกรอบเวลาที่แต่ละโครงการกำหนดไว้แล้วก่อนหน้านี้ว่าจะต้องทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร ไม่ได้เกี่ยวกับว่ารัฐบาลจะหมดวาระแล้วต้องรีบเสนอ ซึ่งเมื่อครั้งที่มารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ใหม่ๆ ก็ทำงานโครงการต่างๆ ต่อเนื่องจาก รมว.คมนาคม คนเก่าอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 66 กระทรวงคมนาคมจะปรับวิธีการปฏิบัติงานใหม่ โดยปลัดกระทรวงคมนาคมจะทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ เพื่อแจ้งแนวปฏิบัติ โดยเมื่อมีการรับเรื่องมาแล้วจะต้องดำเนินการเสนอให้ผู้บังคับบัญชาภายใน 5 วัน

และเมื่อเสนอเรื่องมายังกระทรวงคมนาคม หากมีข้อขัดข้องใดกระทรวงคมนาคมจะรีบแจ้งกลับไปยังหน่วยงาน โดยจะระบุชัดเจนว่าต้องแก้ไขในเรื่องใดบ้าง และต้องส่งกลับมาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายใน 14 วัน เพื่อให้การดำเนินงานในทุกโครงการมีประสิทธิภาพ ชัดเจน โปร่งใส ซึ่งที่ผ่านมาหลายเรื่องมักถูกตั้งคำถามว่าเรื่องอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว ทั้งนี้ หากหน่วยงานใดปฏิบัติไม่สามารถปฏิบัติได้ตามกรอบเวลาที่วางไว้ จะมีการประเมินตามหลักวิธีการบริหารงานบุคคลตามลำดับขั้นต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 9 โครงการที่กระทรวงคมนาคม จะเสนอ ครม. พิจารณาในเดือน ม.ค.-ก.พ. 66 นั้น มีวงเงินโครงการรวมประมาณ 5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟไฮสปีด เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย วงเงิน 3 แสนล้านบาท, 2. โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 4,694 ล้านบาท 3. โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,468 ล้านบาท, 4.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 10,670 ล้านบาท, 5.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) วงเงิน 47,000 ล้านบาท

6.โครงการรถไฟทางคู่ ระยะ (เฟส) ที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 29,748 ล้านบาท, 7.โครงการรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย วงเงิน วงเงิน 62,859 ล้านบาท, 8. โครงการรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน วงเงิน 37,527 ล้านบาท และ 9.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 หรือ M6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. เสนอขออนุมัติกรอบค่างานก่อสร้างทั้ง 16 ตอน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 6,700 ล้านบาท.