สืบเนื่องจากกรณี นายเติมพงษ์ เหมาะสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ทำหนังสือแจ้งข่าวการลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 29 ธ.ค.65 ระบุว่า บริษัทฯได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้าง กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มูลค่าโครงการ 33,169,726.39 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จนกลายเป็นที่วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียถึงความเหมาะสมในการใช้งบประมาณแพงเว่อร์? ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 3 ม.ค.66 ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (หัวลำโพง) นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท) เปิดเผยว่า วันนี้ตนมายื่นหนังสือเพื่อขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยตรวจสอบถึงกระบวนการว่าจ้าง เพราะว่าปกติแล้วการรถไฟจะมีกระบวนการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อยู่แล้ว และจะต้องมีการประกาศเชิญชวนเรื่องของการคัดเลือก หากท้ายสุดไม่มีใครมายื่นเสนอราคา จึงจะใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง แต่เรามองเห็นว่าการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงป้ายชื่อรถไฟดังกล่าว อันนี้เรามองว่ามีความจำเป็นจริง แต่ความจำเป็นเร่งด่วน คือ การให้บริการผู้โดยสาร แต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตรงนี้เรามองว่ามันเป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ขององค์กร หากดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ดังกล่าว ตนมองว่าจะได้คุณภาพและราคาถูกมากกว่านี้ เลยห่วงว่าจะเป็นเรื่องของการใช้งบประมาณ จึงต้องการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยตรวจสอบ

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า ตนได้เข้าไปดูที่เว็บไซต์ของการรถไฟฯ พบว่า เอกสารมีการระบุวิธีเฉพาะเจาะจง แต่รายละเอียดปริมาณงานต่างๆ ตนไม่พบเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ส่วนจะเข้าข่ายฮั้วหรือไม่นั้น ตนมองว่าโดยหลักการตรวจสอบความโปร่งใส ถ้ารักษาผลประโยชน์ขององค์กร มันจะมีการเสนอราคาแข่งกัน เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดและราคาที่เหมาะสมที่สุด

โดยงบประมาณจำนวน 33 ล้านบาท เท่าที่ตนดูเอกสารพบว่า เป็นการเปลี่ยนเฉพาะป้ายชื่อฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก จำนวน 56 ตัวอักษรรวมทั้งในส่วนของตราโลโก้ของการรถไฟฯ เฉลี่ยตัวละ 5.8 แสนบาท จึงมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ตนยังได้เข้าไปดูเว็บไซต์ของบริษัทที่ได้รับให้ดำเนินการเปลี่ยนป้ายชื่อรถไฟพบว่า มีราคาตั้งแต่ 10,000 กว่าบาท สูงสุดถึง 100,000 กว่าบาทต่อตัว แต่ถือว่าราคาป้ายรถไฟในครั้งนี้สูงเกือบตัวละ 500,000 บาท จึงไม่ทราบว่าวัสดุเป็นอย่างไร หรือมีสเปกอย่างไร

ในงบประมาณจำนวน 33 ล้านบาท นอกจากที่ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย มองว่ามันสูงเกินความเป็นจริง ก็ยังมีสาธารณชนที่มองแบบนี้เช่นเดียวกัน และในฐานะที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น ในเรื่องการใช้งบประมาณควรจะมีการชี้แจงและประกาศให้สาธารณะชนได้รับรู้ว่ามีการดำเนินการขั้นตอนและมีความโปร่งใสอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ตนดูตั้งแต่กระบวนการขั้นต้นก่อนที่จะมีการประกาศการจัดซื้อจัดจ้าง อาจจะต้องมีขั้นตอนที่มีความรัดกุมมากกว่านี้เพราะพอการรถไฟฯ ไปใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง จึงทำให้สาธารณะชนตั้งข้อสงสัยได้ ทั้งนี้ หากการกระทำใดเป็นการทำให้องค์กรอาจได้รับผลเสียหรือได้รับผลกระทบ การรถไฟฯ ควรมีการทบทวนและทำให้โปร่งใส จริงๆแล้วการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องประกาศหาบริษัทหลายรายเพื่อเข้าสู่การแข่งขันประมูลก่อน จากนั้นจึงไปสู่การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding แต่ในกรณีนี้กลับใช้วิธีที่สาม คือ วิธีระบุเฉพาะเจาะจง

“จริงๆแล้ว ในส่วนของชื่อที่ได้รับการพระราชทานมาแล้ว สามารถเปลี่ยนไปตามชื่อที่ได้รับพระราชทานได้ แต่ว่าในกระบวนการ ความจำเป็นเร่งด่วน ตนมองว่าไม่จำเป็นต้องทำภายใน 30-45 วัน เพราะจะต้องมีกระบวนการเริ่มตั้งแต่การประกวดราคา การกำหนดสเปก เมื่อได้ผลสรุปแล้วจึงจะดำเนินการเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยและสาธารณะชน เพื่อให้สังคมสามารถตรวจสอบได้ด้วย” นายสราวุธ ระบุ

ทางด้าน นายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจงต่อประชาชนอยู่ ตนยืนยันว่า ทุกกระบวนการทำด้วยความโปร่งใส และชัดเจน ทั้งยังเชื่อว่า สังคมจะเข้าใจมากขึ้นหลังมีการชี้แจงของการรถไฟแล้ว

นายสุชีพ เผยอีกว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้แสดงถึงความเป็นห่วง และให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ภายใน 7 วัน รวมถึงต้องตอบคำถามประชาชนชี้แจงถึงที่มาที่ไปได้ทุกข้อ เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสที่การรถไฟฯ ได้ดำเนินการ แต่ยืนยันว่า การเปลี่ยนป้ายในราคา 33 ล้านบาท มีความเหมาะสมแล้วกับลักษณะตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่ รวมไปถึงการเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อรองรับป้ายใหม่ด้วย เพราะว่าจะต้องนำป้ายของเก่าออกทั้งหมดก่อนรวมถึงตัวกระจกด้วย จึงจะสามารถนำป้ายใหม่มาติดได้ ทั้งนี้ ข่าวแจกสื่อมวลชนสำหรับรายละเอียดประเด็นดังกล่าว จะมีการเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก การรถไฟแห่งประเทศไทย ภายในช่วงเย็นวันนี้ (3 ม.ค.66) เพื่อให้สาธารณะได้รับทราบถึงการดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อไป.