กรณีศึกษาที่เพิ่งเผยแพร่ในวารสารอเมริกัน “Psychology and Aging” ของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในหัวข้อ Postponing Old Age: Evidence for Historical Change Toward a Later Perceived Onset of Old Age ซึ่งเกี่ยวกับมุมมองและแนวคิดของวัยชราและการเป็นผู้สูงอายุ มีการค้นพบครั้งสำคัญว่า ผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยซึ่งอยู่ในวัย 60 ปีขึ้นไป เชื่อว่า วัย “ชรา” ควรเริ่มต้นที่อายุ 75 ปีโดยประมาณ จากเดิมที่มีแนวคิดว่าวัยชราควรเริ่มต้นที่อายุประมาณ 60 ปี

กรณีศึกษานี้ใช้ข้อมูลจากผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 140,000 คน จากการตอบแบบสอบถามของหน่วยสำรวจข้อมูลผู้สูงอายุในเยอรมนี มีอายุระหว่าง 40-85 ปี เกิดระหว่างปี 2454-2517 โดยพวกเขาจะต้องตอบแบบสอบถาม 8 ครั้ง ระหว่างปี 2539-2564 

ผลการศึกษาที่ใช้เวลาติดตามกลุ่มตัวอย่างอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 25 ปี ระบุรายละเอียดว่า ผู้เข้าร่วมโครงการที่เกิดระหว่างปี 2454-2478 มองว่า วัยชราควรเริ่มต้นเร็วกว่าคนที่เกิดหลังจากปี 2478 ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่คนที่เกิดในปี 2454 อายุครบ 65 ปี พวกเขามองว่า วัยชราเริ่มต้นที่อายุ 71 ปี ขณะที่คนที่เกิดในปี 2499 มองว่าวัยชราควรเริ่มต้นที่อายุ 74 ปี

นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างระหว่างเพศชายกับหญิง โดยตัวเลขบอกวัยชราในสายตาของผู้เข้าร่วมโครงการเพศหญิงจะมากกว่าตัวเลขในมุมมองของเพศชายราว 2.4 ปี 

ส่วนปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเหงา, สุขภาพและถิ่นที่อยู่อาศัย ที่แตกต่างกัน ก็ส่งอิทธิพลต่อมุมมองของผู้ร่วมโครงการที่มีต่อจุดเริ่มต้นของวัยชรา

ทีมวิจัยเชื่อว่า มุมมองหรือแนวคิดของคนเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของวัยชราที่ขยายระยะเวลาออกไปนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบที่เกิดจากอายุคาดเฉลี่ย (อายุขัย) ที่เปลี่ยนแปลงไปในแง่ดีขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ทีมวิจัยยังชี้ว่า การค้นพบของพวกเขายังอาจเกี่ยวพันกับข้อมูลด้านการเตรียมตัวและช่วงเวลาที่คนทั่วไปเตรียมพร้อมที่จะก้าวสู่วัยชรา

ทีมวิจัยคาดว่า การที่ตัวเลขบอกช่วงอายุคาดเฉลี่ยหรืออายุขัยที่สูงขึ้น ส่งผลต่อมุมมองต่อช่วงเริ่มต้นของวัยชรา นอกจากนี้ สุขภาพของคนรุ่นใหม่ที่ดีกว่าคนรุ่นก่อน ทำให้เมื่อมาถึงอายุที่ได้ชื่อว่าเป็น “วัยชรา” ตามแนวคิดเดิมแล้ว กลับมองว่ายังไม่ได้ถึงเวลาที่จะเป็นผู้สูงวัยแต่อย่างใด

มุมมองหรือแนวคิดเกี่ยวกับวัยชราที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ เป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมและประวัติศาสตร์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนด้านการเกษียณอายุงานและความก้าวหน้าทางแพทย์ ทีมวิจัยประเมินว่าค่านิยมเชิงวัฒนธรรมเกี่ยวกับผู้สูงวัยหรือวัยชรามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมุมมองนี้

ทีมวิจัยได้เสนอว่าควรมีการศึกษาและเก็บข้อมูลต่อไป เพื่อสำรวจว่ามุมมองดังกล่าว จะยังคงเปลี่ยนแปลงต่อไปเรื่อยๆ หรือมีความแตกต่างในภูมิภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่สังคมตะวันตกหรือไม่ โดยเน้นไปที่ภูมิภาคแถบเอเชีย ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากหลายๆ ประเทศในเอเชียนั้น มีประชากรที่อายุยืนที่สุดในโลก

ที่มา : nbcnews.com, nextshark.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES