สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ว่าวารสารการแพทย์ อีเมอร์จิง ไมโครบส์ แอนด์ อินเฟกชันส์ ( Emerging Microbes & Infections ) เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ เป็นผลการศึกษาครั้งใหม่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่จีนพัฒนาจากเชื้อตาย โดย นพ.จง หนานซาน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจฝ่ายบุคลากรการแพทย์ของจีน เพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 ร่วมกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งมณฑลกว่างโจว พื้นที่ซึ่งเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อเดลตา เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผลปรากฏว่า การฉีดวัคซีนเชื้อตายครบสองโด๊ส มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดลตา 59% "ในภาพรวม" ป้องกันอาการป่วยปานกลางได้ 70.2% และสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงได้ที่ระดับสูงสุด 100% อย่างไรก็ตาม การรับวัคซีนเชื้อตายเพียงเข็มเดียวมีประสิทธิภาพเพียง 13.8% ยังไม่ถือว่าเพียงพอ ปัจจุบัน วัคซีนเชื้อตายซึ่งใช้ในจีน คือ ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม 
อนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา นพ.จงกล่าวว่า มากกว่า 90% ของวัคซีนที่ใช้ในจีนผลิตจากเชื้อตาย เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ปลอดภัย และมีผลข้างเคียงน้อยในระยะยาว ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อเดลตาหลายคนมีอาการป่วยไม่รุนแรง เพราะได้รับวัคซีนแล้ว จึงขอให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 80% ทั้งประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES