จากกรณีอาคาร 4 ชั้น ในโครงการก่อสร้างหรู เขตห้วยขวาง เกิดเหตุพื้นและคานปูนบริเวณชั้นที่ 4 และชั้น 3 ถล่มลงมาอยู่ที่ชั้น 2 ของตัวอาคารทับคนงานชาวเมียนมา บาดเจ็บ 5 ราย เหตุเกิดเมื่อช่วงเย็น วันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา

ความคืบหน้าวันที่ 13 ก.พ. นายไพฑูรย์ งามมุข ผอ.เขตห้วยขวาง พร้อมด้วย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม สภาวิศวกร และ นายนิศิต วนิชรานันท์ คณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม เข้าตรวจสอบที่ไซต์งาน เพื่อหาสาเหตุการถล่มของโครงสร้าง

ภายหลังการตรวจสอบ ผอ.เขตห้วยขวาง ระบุ ขณะนี้สำนักเขตห้วยขวาง ได้ออกคำสั่งปิดประกาศและกั้นบริเวณดังกล่าว ห้ามใช้ทันทีทุกอาคารที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประกอบกับข้อ 7 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ. 2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 สั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการเพื่อบรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดภยันตรายดังกล่าวตามรายการแนบท้ายคำสั่งนี้ให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เจ้าของอาคารได้รับคำสั่งนี้ หากพ้นกำหนดนี้แล้วจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยห้ามมิให้ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้อาคาร จนกว่าจะมีการแก้ไขเพื่อบรรเทาเหตุที่อาจก่อให้เกิดภยันตราย

ผอ.เขตห้วยขวาง กล่าวต่อว่า ผู้ได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการ

พิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง โดยทำเป็นหนังสือและยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้ออกคำสั่งนี้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนมีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละ 30,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน

ด้าน อุปนายก วิศวกรรมสถานฯ กล่าวว่า โครงสร้างอยู่ในช่วงระหว่างการเทคอนกรีต โดยคนงานเริ่มเทคอนกรีตกันตั้งแต่ช่วงเช้าก่อนเกิดเหตุ 2-3 หลังเรื่อยมาจนถึงช่วงเย็นอาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าในการทำงาน เมื่อเทปูนแล้วไม่สามารถเกลี่ยปูนให้ทั่วได้ทันหรือทำให้ล่าช้า เนื่องจากร่างกายที่อ่อนล้าและอาจมีปัญหาเกิดการพับทางหักลงของตัวพื้นคอนกรีต ทำให้ส่วนพื้นหล่นลงมาทับทั้งหลัง

นอกจากนี้ เสาค้ำยันอาจไม่แข็งแรงพอ ต้องมีการตรวจสอบว่าแบบที่ขออนุญาตไว้นั้นก่อสร้างมาถูกต้องหรือไม่ โดยจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบเชิงลึกในส่วนของโครงสร้างที่พังลงมา

ขณะที่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม สภาวิศวกร แสดงความกังวลเรื่องโครงสร้างที่เหลือ เนื่องจากการดำเนินการก่อสร้าง พบข้อบกพร่องหลายจุด เช่น เรื่องนั่งร้านที่ไม่ปลอดภัยกับคนงานก่อสร้าง ทั้งนี้ ได้ให้คำแนะนำผ่านสำนักการโยธา ไปยัง กทม. เพื่อให้ทำการแก้ไขให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น จากการตรวจสอบวัสดุที่ใช้พบว่าเป็นวัสดุที่ใช้การก่อสร้างทั่วไป สำหรับกรณีนี้เป็นการก่อสร้างอาคารขนาดเล็ก แต่ลักษณะการพังเป็นการพังทั้งหลัง พบว่าเป็นอันตรายไม่ค่อยได้เกิดเหตุเช่นนี้บ่อย จึงจะนำกรณีนี้ไปศึกษาเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยยิ่งขึ้นในการก่อสร้างอาคารขนาดเล็กต่อไป.