ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมปาร์ค อินทาวน์ อ.เมือง จ.ปัตตานี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานเปิดโครงการสัมนาสมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ “พบปะโต๊ะครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องในโอกาสอิซเราะ เมี๊ยะรอจ” 

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า 2-3 วันที่ผ่านมา มีคนกลุ่มหนึ่งร้องเรียนไปที่รัฐสภา ให้ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม 4 ฉบับ (พ.ร.บ.บริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540, พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ พ.ศ. 2524, พ.ร.บ.ฮัจย์ พ.ศ. 2559, พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และการรับรองตราฮาลาล) ซึ่งหมายนี้กำหนดให้มีจุฬาราชมนตรี มีคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีโต๊ะอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น เขาขอให้ยกเลิก เขาบอกว่ากฎหมายนี้ไม่มีประโยชน์ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อกฎหมายประเทศ ถ้ายกเลิกเราจะไม่มีจุฬาราชมนตรี ไม่มีประธานกรรมการอิสลาม ไม่มีอิหม่าม ไม่มีคอเต็บ บีหลั่น ไม่มีการจดทะเบียนมัสยิด โอกาสนี้พรรคประชาชาติ 6 คน ที่ต่อสู้เพื่อพี่น้องของเรา ขอให้ทุกคนรู้ไว้ว่า ศาสนากับการเมืองต้องไปด้วยกัน ทุกวันนี้เรายังมีภาษาและวัฒนธรรม เพราะเรามีปอเนาะ เรามีภาษามลายู

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า การศึกษาจะทำให้มนุษย์มีความแข็งแกร่งทั้งทางร่างก่ายและจิตใจ การศึกษาในปอเนาะและเป็นการศึกษาที่เกี่ยวกับศาสนา มั่นใจสถาบันปอเนาะจะสามารถเป็นกำแพงและเป็นสะพานที่จะปกป้องจิตใจผู้เรียนให้มีความแข็งแกร่ง สกัดกั้นสิ่งชั่วร้าย แม้แต่พนันออนไลน์ในปัจจุบัน หนทางป้องกันคือการปฏิบัติตามหลักศาสนา โอกาสที่จะสร้างความเจริญให้ประเทศ คือโอกาสมาจากการศึกษา สิ่งที่ถูกมองข้ามที่สุดคือสถาบันปอเนาะ 

“สมัยเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. สถาบันปอเนาะสะปอม (โรงเรียนอิสลามบูรพา) ถูกปิด ก็ได้ดำเนินการจนสามารถเปิดการเรียนการสอนปกติได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะอำนาจเลขาธิการ ศอ.บต. เขียนไว้ว่า ต้องส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา สถาบันปอเนาะคือการส่งเสริมการศึกษา นี่คือหนึ่งตัวอย่าง และพรรคประชาชาติมีแนวคิดจะยกคุณภาพ ยกศักยภาพสถาบันปอเนาะ ถึงเวลาแล้วที่ภาษามลายูเป็นภาษาราชการภาษาที่ 2 ใช้เฉพาะในสามจังหวัด วันนี้ภาษา วัฒนธรรม และศาสนาต้องไม่มีพรมแดน” เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุ

ด้านนายมูฮำหมัดซูวารี ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้พรรคประชาชาติ แก้ปัญหาให้กับสถาบันปอเนาะ เช่น การจดทะเบียนสถาบันปอเนาะที่กำหนดให้โต๊ะครูต้องจบปริญญาตรี ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 145 แห่ง ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (ส.ช.) ไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้ จึงขอให้พรรคประชาชาติช่วยแก้ปัญหา ให้มีการผ่อนปรน เพื่อให้สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ปกติก่อนในระหว่างดำเนินการ และขอให้สถาบันปอเนาะสงขลา สตูล ได้รับเงินอุดหนุนเช่นเดียวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

นอกจากนั้น ยังได้ร้องขอให้พรรคประชาชาติ แก้ปัญหาให้นักเรียนที่เรียนจบชั้น 10 ทางศาสนา สามารถรองรับวุฒิการศึกษา เข้าเรียนต่อคณะอิสลามศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในประเทศได้ เนื่องจากปัจจุบันวุฒิอิสลามศึกษาชั้น 10 (ซานาวี) สามารถไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้ แต่ไม่สามารถเรียนในไทยได้ และขอให้มีการพัฒนาสถาบันปอเนาะ เหมือนสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และเพื่อไทย ที่มีเงินอุดหนุนปอเนาะ จะได้นำไปพัฒนาปอเนาะ รวมถึงขอให้รื้อฟื้นการจัดตั้งมหาวิทยาลัยฟาตอนีดารุสสาลาม โดยการนำหลักสูตรมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร มาเปิดการเรียนการสอนในพื้นที่ด้วย